ดอกเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของพืช ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ เกสรตัวเมีย ก้านดอก ฐานรองดอก หน้าที่สำคัญของดอกคือ การสืบพันธุ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อละอองเกสรตัวผู้ตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย เกสรตัวผู้เข้าไปผสมกับไข่ในรังไข่ของเกสรตัวเมีย เรียกว่าการปฏิสนธิ เกิดเป็นต้นอ่อนอยู่ภายในเมล็ด ถ้ามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมาก จะเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไป
ส่วนประกอบที่สำคัญของดอก มี 4 ส่วนคือ
1. กลีบเลี้ยง เป็นกลีบเล็ก ๆ สีเขียว อยู่ล่างสุดของดอก ทำหน้าที่ห่อหุ้มดอกตูม และป้องกันอันตรายให้กลีบดอกในขณะที่ยังอ่อนอยู่
2. กลีบดอก เป็นส่วนที่อยู่ขึ้นมาจากกลีบเลี้ยง ส่วนใหญ่จะมีสีต่าง ๆ บางชนิดมีกลิ่นหอม มีต่อมน้ำหวานอยู่ที่โคนกลีบ ทำหน้าที่ล่อแมลงให้มาช่วยผสมพันธุ์
3. เกสรตัวผู้ มีลักษณะคล้ายหลอดอันเล็กๆ มีสีขาว ปลายหลอดจะมีอับละอองเรณูสีเหลืองอยู่ ละอองเรณูมีรูปร่างค่อนข้างกลม เกสรตัวผู้อยู่ถัดจากกลีบดอกเข้ามาข้างในดอก ก้านของเกสรตัวผู้อาจจะติดกับกลีบดอกหรือแยกออกมาต่างหากก็ได้ อาจมีเกสรตัวผู้ตั้งแต่หนึ่งอันไปจนถึงหลาย ๆ อัน
4. เกสรตัวเมีย เป็นส่วนที่อยู่ตรงกลางของดอก ประกอบด้วยรังไข่ที่อยู่ล่างสุดบริเวณฐานรองดอก ภายในรังไข่บรรจุไข่อ่อนเล็ก ๆ ไว้ เหนือรังไข่จะเป็นท่อยาว เรียกว่า ก้านชูเกสรตัวเมีย ในท่อของก้านชูเกสรจะมีน้ำเหนียว ๆ หรือขนเล็ก ๆ นี้จะช่วยยึดเกาะละอองเรณูให้เข้ามาผสมกับไข่ในรังไข่ของเกสรตัวเมีย
การจำแนกประเภทของดอกโดยใช้ส่วนประกอบของดอกเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 2 ชนิดคือ
- ดอกสมบูรณ์หรือดอกครบส่วน เป็นดอกไม้ที่มีส่วนประกอบครบทั้ง 4 ส่วนคือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียภายในดอกเดียวกัน เช่น ดอกชบา ดอกกุหลาบ ดอกมะเขือ เป็นต้น
- ดอกไม่สมบูรณ์หรือดอกไม่ครบส่วน เป็นดอกไม้ที่มีส่วนประกอบของดอกไม่ครบทั้ง 4 ส่วน ในดอกเดียวกัน เช่น ดอกมะละกอ ดอกฟักทอง ดอกเฟื่องฟ้า เป็นต้น
การจำแนกประเภทของดอกโดยใช้จำนวนดอกบนก้านชูดอกเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 2 ชนิดคือ
- ดอกเดี่ยว เป็นดอกที่มีดอกเดียวอยู่บนก้านชูดอก 1 ก้าน เช่น กุหลาบ จำปี ชบา เป็นต้น
- ดอกช่อ เป็นดอกที่มีหลาย ๆ ดอกอยู่บนก้านชูดอก 1 ก้าน เช่น มะลิ เข็ม กล้วยไม้ เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร