ลำต้น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 92.7K views



ลำต้นเป็นส่วนของพืชที่อยู่ต่อจากรากขึ้นมา ลำต้นมีหน้าที่ เช่น ชูกิ่ง ก้าน ใบ และดอกขึ้นสู่อากาศ เพื่อให้ได้รับอากาศและแสงแดด และเป็นทางลำเลียงน้ำ และลำเลียงแร่ธาตุไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของพืชโดย ไซเลม และโฟลเอ็ม

ภายในลำต้นมีท่อลำเลียงน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ท่อลำเลียงน้ำ เรียกว่า ไซเล็ม และท่อลำเลียงอาหาร เรียกว่า โฟลเอ็ม ผ่านไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของท่อลำเลียงน้ำ ไปสู่ลำต้นผ่านกิ่งก้านไปยังใบ พืชส่วนมากมีลำต้นอยู่บนดิน แต่พืชบางชนิดมีลำต้นอยู่ใต้ดิน และลำต้นบางชนิดสะสมน้ำและอาหาร

การจัดเรียงตัวของเนื้อเยื่อลำเลียงน้ำและอาหารในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จะกระจายอยู่ทั่วไปในชั้นคอร์เทกซ์ ส่วนในลำต้นของพืชใบเลี้ยงคู่จะเรียงกันเป็นวง โดยไซเล็มอยู่ด้านใน และโฟลเอ็มอยู่ด้านนอก

ลำต้นประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ 

1. ข้อ เป็นส่วนของลำต้นบริเวณที่มีกิ่ง ใบ ตา ดอก และหนามที่งอกออกมาแทนกิ่งหรือใบ
2. ปล้อง เป็นส่วนของลำต้นที่อยู่ระหว่างข้อแต่ละข้อ
3. ตา เป็นส่วนประกอบสำคัญของลำต้น ทำให้เกิดกิ่ง ใบ และดอก โดยตาใบจะเจริญเติบโตไปเป็นใบ ส่วนตาดอกจะเจริญเติบโตไปเป็นดอก และตารวมจะเจริญเติบโตไปเป็นทั้งดอกและใบได้ โดยตาของพืชประกอบด้วยตายอดและตาข้าง

ภาพ : shutterstock.com

หน้าที่หลักของลำต้นคือ

1. เป็นแกนช่วยชูกิ่ง ใบ ดอก ผล และเมล็ด ช่วยให้ใบกางออกรับแดดในการสังเคราะห์ด้วยแสง​
2. เป็นทางลำเลียงน้ำและแร่ธาตุที่รากดูดขึ้นมาส่งต่อไปยังใบ และส่วนต่าง ๆ ของพืช
3. เป็นทางลำเลียงอาหารที่ใบสร้างขึ้น ส่งผ่านลำต้นไปยังรากและส่วนอื่น ๆ

นอกจากนี้ ลำต้นยังมีหน้าที่พิเศษอื่น ๆ อีก เช่น การสะสมอาหาร การสังเคราะห์ด้วยแสง การขยายพันธุ์ การคายน้ำ หรือลำต้นเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่พิเศษ เช่น มือเกาะ ลำต้นเลื้อยพันหลัก ลำต้นเปลี่ยนเป็นหนาม เป็นต้น

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร