หินเป็นของแข็งที่ประกอบขึ้นด้วยแร่ชนิดเดียวกัน หรือหลายชนิดรวมกันอยู่ตามธรรมชาติ หินบริเวณผิวเปลือกโลกมีการสึกกร่อนจากน้ำ น้ำแข็ง ลม และจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก
ส่งผลให้หินบนผิวโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นหินประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น หินอัคนี หินชั้น หินแปร
ซึ่งหินแต่ละประเภท ยังสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นหินประเภทอื่น ๆ ได้อีกด้วยวัฏจักรของหิน
หินอัคนี
เป็นหินที่เกิดจากสารต่างๆ ที่หลอมละลายรวมอยู่ภายใต้เปลือกโลก เรียกว่า แมกมา ไหลออกไปตามรอยร้าวของเปลือกโลก หรือปล่องภูเขาไฟเป็น ลาวา ซึ่งประกอบด้วยสารจำพวกซิลิเกตเป็นส่วนใหญ่ เมื่อลาวาเย็นตัวลงจะแข็งกลายเป็นหินอัคนี ถ้าเย็นตัวเร็วจะมีลักษณะคล้ายแก้ว ถ้าเย็นตัวช้าผลึกจะหยาบ ตัวอย่างหินอัคนี เช่น หินแกรนิต หินบะซอลต์ หินออบซิเดียน หินพัมมิซ หินแกบโบร หินไรโอไลต์ หินแอนดีไซต์ เป็นต้น
หินชั้น หรือหินตะกอน
เป็นหินที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืช ซากสัตว์ ตะกอนต่าง ๆ หรือเกิดจากการสึกกร่อนผุพังของหินอื่น ๆ เป็นเวลานานจนกลายเป็นหิน บางครั้งพบร่องรอยของซากพืช และซากสัตว์โบราณ เรียกว่า ฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์ หินชนิดนี้จึงมีลักษณะเป็นตะกอนหรือเป็นชั้น ๆ เช่น หินทราย หินปูน หินดินดาน หินกรวด เป็นต้น
หินแปร
เป็นหินที่เปลี่ยนแปลงมาจากหินอัคนีหรือหินชั้น เพราะถูกความร้อน ความกดดันภายในโลก และการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ทำให้รูปร่างและเนื้อเดิมของหินเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น หินชนวน หินอ่อน หินไนส์ หินควอร์ตไซต์ หินชีสต์ เป็นต้น
วัฏจักรของหิน หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของหินโดยกระบวนการทางธรณีวิทยา มีผลทำให้หินเกิดการเปลี่ยนแปลงจากหินชนิดหนึ่ง ไปเป็นหินอีกชนิดหนึ่ง รวมถึงทำให้เปลี่ยนกลับมาเป็นหินชนิดเดิมได้อีกด้วย การเปลี่ยนแปลงของหินมีดังนี้
1. การหลอมเหลว เกิดขึ้นเมื่อหินอัคนี หินตะกอน หรือหินแปร อยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงใต้พื้นผิวโลก หรือในชั้นแมนเทิล หินต่าง ๆ จะถูกหลอมเหลวด้วยอุณหภูมิสูง จนกลายเป็นหินหนืดและเย็นตัวลงจนกลายเป็นหินอัคนี
2. การผุพังและกัดเซาะ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยกระแสลม น้ำ และการกระทำของมนุษย์ ทำให้หินเกิดการแตก และผุกร่อนทับถมกันกลายเป็นตะกอน และผ่านกระบวนการเกิดตะกอน ได้แก่ การอัดตัว การเชื่อมประสาน การแทนที่ การระเหยของน้ำ หรือการเปลี่ยนแปลงผลึก ทำให้กลายเป็นหินตะกอน
3. การแปรสภาพ เมื่อหินได้รับความร้อนจากภายในโลก ความกดดันจากการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก และเกิดปฏิกิริยาทางเคมีจากของเหลวและแก๊สต่าง ๆ จนทำให้ลักษณะของเนื้อผิว หรือส่วนประกอบภายในหิน มีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นหินแปร
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร