ชั้นของดิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 77.9K views



เราอาจแบ่งชั้นของดินเป็น ดินชั้นบน และดินชั้นล่างก็ได้ โดยดินชั้นบนคือ ดินที่นับจากผิวดินลงไปประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีสีเข้มเพราะมีฮิวมัสหรือสารอินทรีย์มาก รวมถึงมีเม็ดดินขนาดใหญ่ จึงทำให้ดินร่วนซุยเพราะมีช่องว่างระหว่างเม็ดดินมาก ซึ่งทำให้น้ำและอากาศไหลผ่านสะดวก จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก ส่วนดินที่อยู่ลึกกว่า 20-30 เซนติเมตรจากผิวดินจะเรียกว่า ดินชั้นล่าง ซึ่งจะมีสีอ่อนกว่าเพราะมีสารอินทรีย์น้อย รวมถึงมีเม็ดดินขนาดเล็ก จึงทำให้ดินแข็งเพราะช่องว่างระหว่างเม็ดดินมีน้อย ซึ่งทำให้น้ำและอากาศไหลผ่านยากกว่าดินชั้นบน จึงไม่เหมาะกับการเพาะปลูก

ดินนั้นเกิดจากการถับถมผสมกันของหินที่ผุพัง กับซากพืชซากสัตว์ หากสามารถเอามีดตัดพื้นดินเหมือนตัดเค้ก เราก็จะเห็น “หน้าตัดดิน” คือ ดินที่ทับถมกันเป็นชั้น ๆ ซึ่งสามารถบอกลักษณะทางธรณีวิทยา และภูมิอากาศของบริเวณนั้นย้อนกลับไปได้เป็นพัน ๆ ปี รวมไปถึงการวิธีการใช้ประโยชน์จากดินของผู้ที่อาศัยบนพื้นดินนั้น ๆ ได้ด้วย

นักธรณีวิทยามีการจำแนกหน้าตัดดิน หรือชั้นของดินได้มากมายเป็นสิบๆ ชั้นจากสีสัน และเนื้อดินที่แตกต่างกัน แต่หลักๆ แล้วอาจรวมได้เป็น 6 ชั้น โดยแต่ละชั้นอาจจะบางเพียง 2-3 มิลลิเมตร หรือหนากว่า 1 เมตรก็ได้ ดินบางชั้นเกิดจากการพังทลายและถูกชะล้างโดยกระแสน้ำ ในขณะที่ดินบางชั้นเกิดจากการสะสมตะกอนนานหลายพันปี ดังนี้

ภาพ : shutterstock.com

 

ชั้นโอ (O-Horizon) เป็นชั้นดินอินทรีย์ หรือฮิวมัส ที่ประกอบด้วยซากพืชซากสัตว์ต่าง ๆ ที่ยังไม่ผุพังสลายตัว หรือมีการสลายตัวบ้างแล้ว อยู่บนสุดของหน้าดินที่ยังไม่ถูกไถพรวนจึงมักจะพบในพื้นที่ป่า หรือทุ่งหญ้า

ชั้นเอ (A-Horizon) เป็นชั้นดินบน ที่ประกอบด้วยสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายแล้ว คลุกเคล้ากับแร่ธาตุในดิน มีสีเข้ม น้ำซึมผ่านได้ดี ในพื้นที่การเกษตรดินชั้นนี้จะถูกไถพรวน เมื่อมีการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์แล้ว

ชั้นอี (E-Horizon) เป็นดินชั้นบนตอนล่างที่มีการชะละลายมากที่สุดคือ แร่ธาตุส่วนใหญ่อย่าง ดินเหนียว, เหล็ก, อะลูมิเนียม จะถูกชะล้างซึมลงไปยังชั้นดินข้างล่าง ทำให้มีสารอินทรีย์น้อยกว่าชั้นเอ

ชั้นบี (B-Horizon) เป็นชั้นดินล่างที่เก็บสะสมแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ถูกชะล้างลงมาจากชั้นก่อนหน้า อาทิเช่น เหล็ก, แคลเซียม, เกลือ ถือเป็นชั้นหลักของหน้าตัดดินเพราะมีความหนากว่าชั้นดินอื่น ๆ 

ชั้นซี (C-Horizon) เป็นชั้นของหินและแร่ที่กำลังผุพังสลายตัว จึงถือเป็นชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน แต่ไม่มีการสะสมสารอินทรีย์

ชั้นอาร์ (R-Horizon) เป็นชั้นหินแข็ง เช่น แกรนิตหิน, บะซอลต์ และควอตซ์ ที่ยังไม่ผุพังสลายตัว


เรียบเรียงโดย : ภาคิน ลิขิตธนกุล