ดาวบนท้องฟ้า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 83.5K views



ดาวบนท้องฟ้า แบ่งออกเป็น 2 พวก หรือ 2 ชนิด กล่าวคือ พวกที่มีแสงระยิบระยับ หรือมีการกะพริบแสง กับอีกพวกมีแสงสว่างนวลนิ่ง ไม่กะพริบแสง หรือแบ่งเป็นชนิดดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์ การเคลื่อนที่หรือการขึ้นตกของดาวสามารถศึกษาได้จากแผนที่ดาว

ดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทางต่างกัน และโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วต่างกัน ระบบสุริยะของเรามี 8 ดวง เรียงตามระยะที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ดังนี้ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน

ดาวเคราะห์ที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้มีอยู่ 5 ดวง คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ส่วนดาวเคราะห์อีก 2 ดวงที่เหลืออยู่ห่างจากโลกมาก เราสามารถมองเห็นได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดู ดาวเคราะห์ที่มองเห็นง่ายมากที่สุด คือ ดาวพุธ และดาวศุกร์

ภาพ : shutterstock.com

ดาวฤกษ์เป็นดาวที่มีความร้อนและแสงสว่างในตัวเอง เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นแสงระยิบระยับ และถ้าเฝ้ามองดูด้วยตาเปล่าเป็นเวลานาน ๆ จะไม่เคลื่อนที่ออกจากกลุ่ม ส่วนดาวเคราะห์เป็นดาวที่ไม่มีทั้งแสงสว่างและความร้อน ที่เรามองเห็นแสงนั้น เป็นเพราะว่าดาวเคราะห์ได้รับแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ ลักษณะแสงของของดาวเคราะห์นั้น จะมีแสงสว่างนวลนิ่ง และเมื่อเฝ้ามองดูด้วยตาเปล่าเป็นเวลานาน จะพบว่ามีตำแหน่งที่ไม่คงที่เมื่อเทียบดับดาวส่วนใหญ่

การที่ดาวฤกษ์มีแสงกะพริบเพราะดาวฤกษ์อยู่ไกลมาก แสงจากดาวฤกษ์ต้องเดินทางผ่านอากาศ ก่อนผ่านชั้นบรรยากาศของโลกที่มีความแปรปรวน แสงจึงหักเหอย่างไม่คงที่ ทำให้มองเห็นดาวฤกษ์กะพริบแสง

ส่วนดาวเคราะห์ไม่มีแสงกะพริบ เพราะอยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวฤกษ์ แสงที่มาจากดาวเคราะห์เป็นลำแสงใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยแสงเดี่ยวมากมาย เมื่อผ่านบรรยากาศของโลกจะเกิดการหักเหไม่คงที่เช่นกัน แต่อยู่ในขอบเขตของลำแสงใหญ่ จึงมองเห็นดาวเคราะห์กะพริบแสงน้อยมาก คล้ายไม่ได้กะพริบแสง

 

เรียบเรียงโดย : ​ปิตุพร พิมพาเพชร