การสะท้อนของแสง เกิดขึ้นเมื่อมีแสงจากแหล่งกำเนิดตกกระทบบนผิววัตถุ โดยอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสะท้อนแสงมีทั้ง กระจกเงา กระจกนูน กระจกเว้า ประโยชน์ของการสะท้อนแสงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้มากมาย
การสะท้อนแสงจะเกิดขึ้นได้ดี ถ้าผิวของวัตถุนั้นเรียบ เป็นมัน เช่น ผิวกระจกเงาราบ ผิวโลหะขัดมัน ทำให้เกิดการสะท้อนอย่างมีระเบียบ แต่ถ้าวัตถุมีผิวไม่เรียบ เช่น พื้นไม้ พื้นผิวก้อนหิน ทำให้เกิดการสะท้อนไม่มีระเบียบ เป็นต้น
เมื่อแสงส่องผ่านกระจกเงา หรือกระทบวัตถุทึบแสง จะเกิดการสะท้อนแสงขึ้น การสะท้อนของแสงมีส่วนประกอบสำคัญคือ รังสีตกกระทบ รังสีสะท้อน และเส้นปกติ
กฎการสะท้อนแสงมี 2 ข้อคือ
1. รังสีตกกระทบ รังสีสะท้อน และเส้นปกติอยู่ในระนาบเดียวกัน
2. มุมตกกระทบเท่ากับมุมสะท้อน
ความแตกต่างการเกิดภาพจากกระจกเงาแบบต่าง ๆ มีดังนี้
1. กระจกเงาราบ เป็นกระจกแบนราบ มีด้านหนึ่งสะท้อนแสง ภาพที่เกิดขึ้นเป็นภาพเสมือนอยู่หลังกระจก มีระยะภาพเท่ากับระยะวัตถุ และขนาดภาพเท่ากับขนาดวัตถุ ภาพที่ได้เป็นภาพกลับด้านกันจากซ้ายเป็นขวาของวัตถุจริง
2. กระจกเงาเว้า คือกระจกที่ใช้ผิวโค้งเว้าเป็นผิวสะท้อนแสง ภาพที่เกิดจากการวางวัตถุไว้หน้ากระจกโค้งเกิดได้ทั้งภาพจริงและภาพเสมือน โดยภาพจริงอยู่หน้ากระจกและภาพเสมือนอยู่หลังกระจก สำหรับขนาดของภาพมีทั้งขนาดใหญ่กว่าวัตถุ ขนาดเท่าวัตถุ และขนาดเล็กกว่าวัตถุ ขึ้นอยู่กับระยะวัตถุ
3. กระจกเงานูน คือกระจกที่ใช้ผิวโค้งนูนเป็นผิวสะท้อนแสง และรังสีสะท้อนอยู่คนละด้านกับจุดศูนย์กลางความโค้ง ส่วนภาพจากกระจกนูนจะให้ภาพเสมือนที่มีขนาดเล็กกว่าวัตถุ เป็นภาพกลับซ้ายเป็นขวาและเห็นในมุมกว้าง เราติดกระจกเงานูนไว้ตามสี่แยกเพื่อให้เห็นรถที่วิ่งมาได้ หรือติดไว้ในห้างสรรพสินค้า
นี่คือบางตัวอย่างในการใช้ประโยชน์จากการสะท้อนแสงที่ผิวกระจกราบของมนุษย์
- สร้างกล้องเรือดำน้ำ หรือกล้องเพอริสโคป เป็นกล้องที่ใช้สำหรับดูวัตถุที่อยู่สูงกว่าระดับสายตาหรือดูสิ่งที่มีของขวางกั้น และกล้องสลับลายเป็นการนำกฎการสะท้อนของแสงมาใช้
- ร้านขายสินค้าตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านขายทอง มักนำกระจกเงาราบมาช่วยตกแต่งร้านเพื่อให้มองดูกว้างขวาง และรู้สึกว่ามีสินค้าวางจำหน่ายอยู่มากด้วย
- กระจกส่องดูฟันที่ทันตแพทย์ใช้ ทำมาจากกระจกเงาเว้า เมื่อส่องดูฟันใกล้ ๆ จะเห็นฟันชัดเจน
- กระจกส่องข้างรถยนต์ หรือกระจกติดตามสี่แยกเป็นกระจกเงานูน เพื่อให้เห็นภาพจริงและเห็นในมุมกว้าง
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร