การมองเห็นวัตถุเกิดจากการที่แสงไปตกกระทบวัตถุต่าง ๆ แล้วสะท้อนเข้าสู่ตา ความผิดปกติของการมองเห็นที่ทำให้เราเห็นวัตถุได้ไม่สมบูรณ์ อาจเกิดได้จาก สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาเหล่ ตาบอดสี เป็นต้น
การที่มนุษย์เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้นั้น เกิดจากการที่แสงไปตกกระทบวัตถุต่าง ๆ แล้วเกิดการสะท้อนเข้าสู่ตาเรา โดยผ่านเข้าลูกตาไปทำให้เกิดภาพบนจอประสาทตา หรือเรตินา (Retina) ที่อยู่ด้านหลังของลูกตา ภาพที่มองเห็นจะส่งไปสู่สมองตามเส้นประสาท แล้วสมองทำการแปลข้อมูลภาพของวัตถุนั้น
ตัวอย่างความผิดปกติของสายตา
1. สายตาสั้น
คนสายตาสั้นมองเห็นเฉพาะสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ในระยะ 25 เซนติเมตร แต่สิ่งที่อยู่ไกลจะเห็นไม่ชัด มีสาเหตุมาจากกระบอกตามีขนาดความยาวเกินกว่าปกติ ภาพจากวัตถุในระยะไกลจะตกก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้เห็นภาพพร่ามัว แก้ไขโดยการใส่แว่นที่ทำด้วยเลนส์เว้า เพื่อช่วยหักเหแสงให้ลงที่จอตาพอดี
2. สายตายาว
คนสายตายาวมองเห็นในระยะ 25 เซนติเมตรไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่อยู่ไกลจะเห็นชัด มีสาเหตุมาจากกระบอกตาสั้นกว่าปกติ หรือกระจกตามีความโค้งน้อยเกินไป หรือกล้ามเนื้อตาหย่อน ภาพจากวัตถุจะตกเลยจอประสาทตา ทำให้เห็นภาพพร่ามัว แก้ไขโดยการใส่แว่นที่ทำด้วยเลนส์นูน เพื่อช่วยหักเหแสงให้ลงที่จอตาพอดี
3. สายตาเอียง
เกิดจากกำลังการรวมแสงของตาในแนวต่าง ๆ ไม่เท่ากัน เพราะกระจกตาไม่กลม มักเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้น หรือยาวโดยกำเนิด ทำให้เห็นภาพซ้อน แก้ไขโดยใช้แว่นสายตาเสนส์กาบกล้วยชนิดพิเศษ เพื่อใช้ปรับการรวมแสงที่แตกต่างกันในระยะใกล้และไกล
4. สายตาเหล่
เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา ถ้าเป็นน้อย ๆ แก้ไขโดยใช้วิธีการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา แต่ถ้าเป็นมาก ๆ ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
5. ตาบอดสี
เป็นโรคตาที่เกิดจากเซลล์ประสาทบนเรตินา มองเห็นสีผิดปกติจากผู้อื่นที่เป็นตาปกติ เช่น คนตาบอดสีแดงจะเห็นวัตถุนั้นเป็นสีเทา ส่วนใหญ่เป็นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากพันธุกรรม เป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถแก้ไขได้
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร