การอาราธนาธรรม
การอาราธนาธรรม หมายถึง การกล่าวขอให้พระภิกษุแสดงธรรมให้ฟังหรือขอนิมนต์พระท่านแสดงธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
การอาราธนาธรรมจะกระทำหลังจากอาราธนาศีลและการสมาทานศีลแล้วโดยไม่ต้องกราบอีก โดยกล่าวคำอาราธนาธรรม ดังนี้
• คำอาราธนาธรรม
พรัหมาจะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ
กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ
สันตีธะสัตตาปปะระชักขะชาติกา
เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชัง
• (คำแปล)ท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นใหญ่ของโลก ได้ประนมหัตถ์นมัสการกราบทูลวิงวอนพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสเบาบางยังมีอยู่ในโลกนี้ ขอพระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์เหล่านั้นเถิด
• เมื่ออาราธนาธรรมจบแล้ว พระภิกษุจะแสดงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อจบแล้วผู้ฟังพระธรรมเทศนา กราบ ๓ ครั้ง และถวายเครื่องกัณฑ์เทศน์ที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นพระภิกษุที่แสดงธรรมจะให้พรแก่ผู้ทำบุญผู้ทำบุญกรวดน้ำและรับพรจากพระภิกษุเป็นอันเสร็จพิธี
การอาราธนาพระปริตร
• การอาราธนาพระปริตร เป็นการกล่าวขอให้พระสงฆ์สวดมนต์ถ้าสวดในงานมงคล เรียกว่า เจริญพระพุทธมนต์ ถ้าสวดในงานอวมงคล เรียกว่า สวดพระพุทธมนต์
• การอาราธนาพระปริตรจะทำต่อจากการสมาทานศีล เมื่อพระภิกษุให้ศีลจบผู้อาราธนาจะกล่าวคำอาราธนาพระปริตร จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ ผู้เข้าร่วมพิธีนั่งพับเพียบ ประนมมือฟังด้วยความเคารพ
• คำอาราธนาพระปริตร
วิปัตติปะฏิพาหายะสัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะทุกขะวินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะสัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะภะยะวินาสายะปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
สัพพะโรคะวินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
• (คำแปล) ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดสวดพระปริตรอันเป็นมงคลเพื่อป้องกันความทุกข์ ภัยอันตราย และโรคภัยไข้เจ็บมิให้เกิดขึ้น
ระเบียบพิธีและการปฏิบัติตนในวันธรรมสวนะ
• วันธรรมสวนะ หมายถึง วันที่พุทธศาสนิกชนสนทนาธรรมหรือฟังธรรม คนทั่วไปเรียกว่า วันพระ ได้ วันขึ้น ๘ ค่ำ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรม ๘ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำของทุกเดือน
• วันธรรมสวนะ จึงถือว่าเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนสนใจปฏิบัติธรรมสร้างความดีเป็นพิเศษยิ่งกว่าวันอื่น ๆ ซึ่งมีระเบียบพิธีการปฏิบัติ คือ
๑) ไปวัดในวันพระและปฏิบัติ ดังนี้ คือ ทำบุญตักบาตร บริจาคทรัพย์ แก่คนยากจน หรือบริจาคเพื่อทำนุบำรุงวัด รักษาศีลโดยตั้งใจรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ตลอดวัน หรือรักษาให้ยาวนานที่สุด ปฏิบัติธรรมโดยการฟังพระธรรมเทศนาทำวัตร สวดมนต์
๒) ไม่ทำชั่ว เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่พูดปด ไม่ฆ่าสัตว์หรือทำลายชีวิตผู้อื่น
๓) ทำความดี เช่น มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป และสัตว์ต่าง ๆ ศึกษาธรรม เช่น อ่านหนังสือธรรมะ สนทนาธรรมกับผู้รู้ หรือทำความสะอาดบ้านเรือนให้น่าอยู่อาศัย
• ระเบียบพิธีและการปฏิบัติตน ในวันธรรมสวนะนี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ถือเป็นประเพณีกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งจะเกิดความสุขสงบ ความเจริญก้าวหน้าและความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดไป
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร