เต้นกำรำเคียว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 264.9K views



เต้นกำรำเคียว

ประวัติความเป็นมา
แถบจังหวัดนครสวรรค์ โดยเฉพาะอำเภอพยุหะคีรี ประชาชนส่วนมากยึดอาชีพการทำนาเป็นหลัก หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวนารู้สึกเหน็ดเหนื่อย และด้วยนิสัยรักความสนุก ประกอบกับการเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยด้วย ก็ชักชวนกันผ่อนคลายความเมื่อยล้า ด้วยการตั้งวงเต้นกำรำเคียว การเล่นเต้นกำรำเคียวมักเริ่มเล่นเพลงเกี่ยวข้าวก่อนเสมอ เต้นกำรำเคียวเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เก่าแก่แบบหนึ่งของชาวชนบท สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นครั้งแรกที่บ้านสระทะเล ตำบลสระทะเล อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เล่นกันแพร่หลายในบ้านสระทะเล และตำบลใกล้เคียง เช่น ตำบลม่วงหัก เป็นต้น อนึ่ง มีผู้รู้เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านคนหนึ่ง กล่าวว่า แต่เดิมชาวบ้านเรียกการละเล่นชนิดนี้ว่า “เต้นกำ” แต่กรมศิลปากรได้ไปถ่ายทอด และนำไปเผยแพร่ ก็ได้เพิ่มคำว่า “รำเคียว” ต่อท้าย จึงทำให้ประชาชนทั้งหลายรู้จักการละเล่นแบบนี้ในชื่อของ “เต้นกำรำเคียว” การนำเพลงเต้นกำรำเคียวไปเผยแพร่นั้น กรมศิลปากรได้ดัดแปลงท่ารำและเนื้อร้องใหม่ เพื่อให้สุภาพขึ้น และใช้ระนาดเป็นเครื่องดนตรีประกอบในตอนต้นและตอนท้าย เพลงเต้นกำรำเคียวนั้น ถือเป็นเพลงพื้นบ้านประจำจังหวัดนครสวรรค์ และในบางครั้งก็ใช้แทนเพลงพื้นบ้านในนามภาคกลางด้วย 

ผู้เล่น
การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียวนั้นผู้เล่นเป็นชาวบ้านที่มาเกี่ยวข้าว ไม่จำกัดจำนวน ชาย หญิง จะจับคู่เล่นกันเป็นคู่ๆ ประมาณ 5 คู่ ถึง 10 คู่

การแต่งกาย
ทั้งของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง คือ  ชุดที่ใส่ในการทำนา ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วย   และสวมเสื้อม่อฮ่อมสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มมีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวกสานใบลาน ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนสีดำ หรือโจงกระเบนผ้าลายก็ได้ และสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม สวมงอบ

อุปกรณ์ในการเล่น
เคียวเกี่ยวข้าวคนละ 1 เล่ม พร้อมกับกำรวงข้าวคนละ 1 กำ

สถานที่เล่น
เล่นกันในท้องนาที่เกี่ยวข้าว หรือลานดินกว้างๆ ในท้องนา 

วิธีเล่น
ในการเล่นจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แต่ละฝ่ายจะยืนอยู่คนละครึ่งวงกลม แต่ละคนถือเคียวเกี่ยวข้าวไว้ด้วยมือขวา ส่วนมือซ้ายกำรวงข้าวไว้ เมื่อการเล่นเริ่มต้นขึ้น ฝ่ายชายที่เป็นพ่อเพลง จะเป็นผู้เต้นออกไปกลางวง ตามจังหวะปรบมือของลูกคู่ พ่อเพลงจะร้องชักชวนแม่เพลงก่อน เพื่อให้ออกมาเพลงแรกคือ เพลงมา สำหรับลูกคู่ที่เป็นชาย จะนำเคียวและรวงข้าวมาเหน็บไว้ข้างหลัง เพื่อตบมือให้จังหวะ ส่วนลูกคู่ฝ่ายหญิงยังคงถือเคียวและรวงข้าวเหมือนเดิม แล้วเดินตามกันไปเป็นวงกลม สำหรับพ่อเพลงและแม่เพลงนั้น จะเปลี่ยนกันหลายคนก็ได้ นอกนั้นก็เป็นลูกคู่คอยร้องรับ นอกจากนี้ยังมีการรำร่อหรือเรียกว่า “ร่อกำ” กล่าวคือ เมื่อพ่อเพลงเดินเข้าไปใกล้แม่เพลง ก็หาทางเข้าใกล้ฝ่ายหญิงให้มากที่สุด เมื่อสบโอกาสก็ใช้ด้ามเคียวหรือข้อศอก กระทุ้งให้ถูกตัวฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงจะใช้เคียวและรวงข้าวปัดป้อง ถ้าหากพ่อเพลงเข้าไปผิดท่า ก็อาจถูกรวงข้าวฟาด การร่อกำนี้ พ่อเพลงที่เต้นเก่งๆ จะทำได้น่าดูมาก เพราะท่าทางสวยงามเป็นที่สนุกสนานครื้นเครง ในขณะที่ร้องพ่อเพลงจะแสดงท่าทางให้สอดคล้องกับเนื้อเพลงด้วย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด  11  บท 

ตัวอย่างเนื้อเพลงเต้นกำรำเคียว
เพลงมา
ชาย   มากันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่มามารึมา แม่มา (ซ้ำ) มาเถิดแม่นุชน้อง พี่จะเป็นฆ้องให้น้องเป็นปี่ ต้อยตะริดติ๊ดตอด น้ำแห้งน้ำหยอดที่ตรงลิ้นปี่ มาเถินะแม่มา มารึมาแม่มา มาเต้นกำย่ำหญ้ากันในนานี้เอย
หญิง  มากันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อมามารึมา พ่อมา ฝนกระจายปลายนา แล้วน้องจะมาอย่างไรเอย

เพลงไป
ชาย
   ไปกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่ไปไปรึไป แม่ไป ไปชมนกกันที่ในป่า ไปชมพฤกษากันในไพร ไปชม   ชะนีผีไพรกันเล่นที่ในดงเอย
หญิง  ไปกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อไปไปรึไป พ่อไป น้องเดินขยิกจิกไหล่ ตามก้นพี่ชายไปเอย

เพลงเดิน
ชาย   เดินกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่เดินเดินรึเดิน แม่เดิน ย่างเท้าขึ้นโคก เสียงโพระดกมันเกริ่น (ซ้ำ) จะชวนหมู่น้องไปท้องพะเนิน ชมเล่นให้เพลินใจเอย
หญิง  เดินกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อเดินเดินรึเดิน พ่อเดิน หนทางก็รกระหกระเหินแล้วน้องจะเดินอย่างไรเอย 

เพลงรำ
ชาย   รำกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่รำรำรึรำ แม่รำ ใส่เสื้อดี แม่ห่มแต่สีดอกขำ น้อยหรือแน่แม่ช่างรำ แม่เชื้อระบำเก่าเอย
หญิง  รำกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อรำรำรึรำ พ่อรำ มหาหงส์ลงต่ำ ต่างคนต่างรำไปเอย

เพลงร่อน
ชาย   ร่อนกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่ร่อนร่อนรึร่อน แม่ร่อน (ซ้ำ) รูปร่างเหมือนนางระบำ แม่เอ๋ยช่างรำ แม่คุณช่างร่อน (ซ้ำ) อ้อนแอ้นแขนอ่อน รูปร่างเหมือนมอญรำเอย
หญิง  ร่อนกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อร่อนร่อนรึร่อน พ่อร่อน สีนวลอ่อนๆ ร่อนแต่ลมบนลมเอย

เพลงบิน
ชาย   บินกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่บินบินรึบิน สองตีนกระทืบดิน ใครเลยจะบินไปได้อย่างเจ้า (ซ้ำ) ใส่งอบขาวๆ รำกำข้าวงามเอย
หญิง  บินกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อบิน บินรึบิน พ่อบิน มหาหงส์ทรงศีล บินไปตามลมเอย

เพลงยัก
ชาย   ยักกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่ยักยักรึยัก แม่ยัก ยักตื้น กระไรติดกึก ยักลึก กระไรติดกัก (ซ้ำ) แม่หงส์ทองน้องรัก ยักให้หมดวงเอย    
หญิง  ยักกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อยักยักรึยัก พ่อยัก (ซ้ำ) อย่าเข้ามาใกล้น้องนัก จะโดนเคียวควักตาเอย

เพลงย่อง
ชาย   ย่องกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่ย่องย่องรึย่อง แม่ย่อง บุกพงอะไรแกรกๆ สองมือก็แวกนัยน์ตาก็มอง (ซ้ำ) พบฝูงละมั่ง กวางทอง พวกเราก็จ้องยิงเอย
หญิง  ย่องกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อย่องย่องรึย่อง พ่อย่อง ฝูงละมั่งกวางทอง ย่องมากินถั่วเอย

เพลงย่าง
ชาย   ย่างกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่ย่างย่างรึย่าง แม่ย่าง ย่างเถิดย่างเถิดแม่ย่าง ย่างรึย่างแม่ย่าง เจอะเสือพี่ก็จะยิง เจอะกระทิงพี่ก็จะย่าง (ซ้ำ)            ไม่ว่าเนื้อเสือเนื้อช้าง จะย่างไปฝากเมียเอย
หญิง  ย่างกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อย่าง ย่างรึย่างพ่อย่าง เนื้อเสือเนื้อช้าง ย่างไปฝากเมียเอย

เพลงแถ
ชาย   แถกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่แถแถรึแถ แม่แถ (ซ้ำ) จะลงหนองไหน พี่จะไปหนองนั้นแน่ (ซ้ำ) นกกระสาปลากระแห แถให้ติดดินเอย
หญิง  แถกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อแถแถรึแถ พ่อแถ (ซ้ำ) นกกระสาปลากระแห แถมาลงหนองเอย

เพลงถอง
ชาย   ถองกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่ถองถองรึถอง แม่ถอง (ซ้ำ) ถองรึถองแม่ถอง ถองซิถองแม่ถอง คอยขยับจับจ้อง ถองให้ถูกนางเอย
หญิง  ถองกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อถองถองรึถอง (ซ้ำ) กล้าดีก็เข้ามาลอง จะโดนกระบองตีเอย