ประโยค (บทขยายกรรม)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 164.8K views



ประโยค   คือ คำที่นำมาเรียงกันและได้ใจความสมบูรณ์  ทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน ทำอาการอย่างไร 

ประโยคประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ 

1. ภาคประธาน  ได้แก่   ผู้กระทำกริยา และบทขยายของผู้กระทำกริยา 

1) ประธาน หมายถึง  ผู้แสดงอาการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  จะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ เช่น

- ตำรวจจับโจร                ตำรวจ เป็น ประธาน        

2) บทขยายประธาน  หมายถึง  การอธิบายลักษณะของผู้กระทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้  เช่น  

- หนังสือสีแดงวางอยู่บนโต๊ะ          สีแดง เป็น บทขยายประธาน

- เด็กผู้ชายคนนั้นร้องไห้เสียงดัง         คนนั้น เป็น บทขยายประธาน

2. ภาคแสดง  ได้แก่ ส่วนที่เป็นกริยาและบทขยายของกริยา  ซึ่งอาจมีบทกรรมและบทขยายกรรมอยู่ด้วย 

1) กริยา หมายถึง คำที่แสดงอาการ หรือปรากฏให้เห็น เช่น เดิน ซื้อ วิ่ง เป็น อยู่ คือ ฯลฯ

- แมวกินปลา            กิน  เป็นกริยา

2) บทขยายกริยา  หมายถึง การอธิบายลักษณะ อาการที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น  เช่น  

- พ่อวิ่งเร็ว             เร็ว  เป็น บทขยายกริยา

- หมูกินจุ              จุ เป็น บทขยายกริยา

3) กรรม  หมายถึง ผู้ที่ถูกกระทำ หรือผู้ที่รับอาการกระทำ จะเป็นคน  สัตว์ หรือสิ่งของ เช่นนักเรียน กระต่าย บ้าน ฯลฯ
   

- น้องทำการบ้าน            การบ้าน เป็น กรรม 

4) บทขยายกรรม หมายถึง การอธิบายผู้ที่ถูกกระทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น

- ครูสอนนักเรียนกลุ่มใหญ่    กลุ่มใหญ่ เป็น บทขยายกรรม

- น้องเลี้ยงกระต่ายสีขาว        สีขาว เป็น บทขยายกรรม