แรงพยุงของของเหลวเป็นแรงที่กระทำต่อวัตถุที่ลอย หรือจมอยู่ในของเหลว ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแรงพยุงของของเหลว ได้แก่ ชนิดของวัตถุ ชนิดของเหลว และขนาดวัตถุ
แรงพยุงของของเหลว เป็นแรงดันขึ้นของน้ำที่กระทำต่อวัตถุที่ลงไปในน้ำ มีค่าเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกวัตถุนั้นแทนที่ ถ้าน้ำหนักของวัตถุมีค่าน้อยกว่าแรงพยุงของของเหลว วัตถุนั้นจะลอยน้ำ แต่ถ้าน้ำหนักของวัตถุมีค่ามากกว่าแรงพยุงของของเหลว วัตถุนั้นก็จะจมน้ำ เพราะวัตถุที่ลอยน้ำได้ต้องมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ หรือน้ำหนักของวัตถุเมื่อชั่งในน้ำจะลดลง เพราะมีแรงที่เกิดจากน้ำช่วยพยุงน้ำหนักของวัตถุนั่นเอง
หลักของแรงพยุงของของเหลว พบโดย อาร์คิมีดิส (Archimedes) ปราชญ์ชาวกรีก ที่พบว่า วัตถุใดๆ ที่อยู่ในของเหลวจะถูกแรงพยุงกระทำ โดยแรงพยุงที่กระทำนี้จะมีค่าเท่ากับน้ำหนักของของเหลวที่ถูกแทนที่ด้วยส่วนที่จมอยู่ในของเหลวนั้น ๆ
ดังนั้น ของเหลวทุกชนิดจะมีแรงพยุงของของเหลวที่กระทำต่อวัตถุที่ลอย หรือจมอยู่ในของเหลวนั้น การลอยหรือการจมของวัตถุขึ้นอยู่กับน้ำหนักของวัตถุ และแรงพยุงของของเหลวนั้น
แรงพยุงของของเหลวนำไปใช้ประโยชน์ในการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ หลายอย่าง เช่น เสื้อชูชีพ แพยางเรือ เป็นต้น
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแรงพยุงของของเหลว
1. ชนิดของวัตถุ วัตถุแต่ละชนิดจะมีความหนาแน่นแตกต่างกัน เช่น เหล็ก ไม้ พลาสติก วัตถุเหล่านี้ถ้ามีมวลเท่ากัน เหล็กจะมีความหนาแน่นมากกว่าไม้ และไม้มีความหนาแน่นมากกว่าพลาสติก ซึ่งวัตถุที่มีความหนาแน่นมากจะจมลงไปในของเหลวมาก
2. ชนิดของเหลว ของเหลวแต่ละชนิดมีความหนาแน่นแตกต่างกัน เช่น น้ำบริสุทธิ์มีความหนาแน่นมากกว่าเอทิลแอลกอฮอล์ และน้ำมันเบนซิน ซึ่งของเหลวที่มีความหนาแน่นมากจะมีแรงพยุงมาก
3. ขนาดของวัตถุ จะส่งผลต่อปริมาตรที่จมลงไปในของเหลว ซึ่งถ้าวัตถุมีขนาดใหญ่จะมีปริมาตรที่จมลงไปในของเหลวมาก ทำให้แรงพยุงของของเหลวมีค่ามาก
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร