แรงเสียดทาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 31.8K views



แรงเสียดทาน (Friction) ทำให้วัตถุเคลื่อนที่ช้าลง ขนาดของแรงเสียดทานขึ้นอยู่กับ ลักษณะของผิวสัมผัส น้ำหนักของวัตถุที่กดลงบนอีกพื้นผิว และชนิดของผิวสัมผัส

แรงเสียดทาน เป็นแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผิวสัมผัสของวัตถุ 2 ชิ้นที่สัมผัสกัน แรงเสียดทานเป็นแรงที่ผิววัตถุต้านทานการเคลื่อนที่ของผิววัตถุอีกผิวหนึ่ง เช่น น้ำต้านทางการเคลื่อนที่ของเรือที่แล่นบนแม่น้ำ ส่งผลทำให้วัตถุเคลื่อนที่ช้าลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหยุดนิ่งในที่สุด

แรงเสียดทานจะกระทำในทิศตรงข้ามกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ ถ้าไม่มีแรงเสียดทานวัตถุจะเคลื่อนที่ด้วยอัตราคงตัวตลอดการเคลื่อนที่ แต่เมื่อมีแรงเสียดทานวัตถุจะเคลื่อนที่ช้าลงเรื่อย ๆ จนหยุดนิ่งในที่สุด

ภาพ : shutterstock.com

ขนาดของแรงเสียดทานจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ

1. ลักษณะของผิวสัมผัส ถ้าพื้นผิวเรียบ เช่น กระเบื้อง กระจก พลาสติก เป็นต้น จะเกิดแรงเสียดทานน้อย เนื่องจากพื้นผิวเรียบมีการเสียดสีระหว่างกันน้อย ถ้าพื้นผิวขรุขระ เช่น พื้นทราย พื้นหญ้า พื้นหินกรวด เป็นต้น จะเกิดแรงเสียดทานมาก

2. น้ำหนักของวัตถุที่กดลงบนอีกพื้นผิว หากน้ำหนักของวัตถุมาก แรงที่กดลงบนพื้นผิวอีกพื้นผิวหนึ่งจะมาก ทำให้เพิ่มแรงเสียดทาน

3. ชนิดของผิวสัมผัส เช่น พื้นคอนกรีตกับเหล็ก เหล็กกับพื้นไม้ จะเห็นว่าผิวสัมผัสแต่ละคู่มีความหยาบ ขรุขระ หรือเรียบลื่นแตกต่างกัน ทำให้เกิดแรงเสียดทานไม่เท่ากัน

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร