แรงลัพธ์ หมายถึง ผลรวมของแรงที่กระทำต่อวัตถุทั้งขนาดและทิศทาง ซึ่งเกิดได้ 3 รูปแบบ คือ ดึงไปด้านเดียวกัน ดึงไปคนละด้านกันด้วยแรงไม่เท่ากัน หรือดึงไปคนละด้านกันด้วยแรงเท่ากัน ซึ่งการใช้ประโยชน์ของแรงลัพธ์มีมากมายในชีวิตประจำวัน
เมื่อดึงหรือผลักวัตถุด้วยแรงมากกว่าหนึ่งแรงแล้วทำให้วัตถุเคลื่อนที่ ผลของการเคลื่อนที่นั้นดูเสมือนว่าเป็นผลจากแรงหนึ่งแรงที่กระทำต่อวัตถุ แต่แรงหนึ่งแรงนี้จริง ๆ แล้วเป็นผลลัพธ์ของแรงหลาย ๆ แรงที่กระทำพร้อมกัน
ตัวอย่างเช่น ถ้าหากมีคนสองคนช่วยกันออกแรงลากวัตถุไปในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งทำให้วัตถุเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น การช่วยกันลากนี้ทำให้เกิดแรงรวมขึ้น เรียกว่า แรงลัพธ์ ดังนั้น แรงลัพธ์ จึงหมายถึง ผลรวมของแรงในหนึ่งครั้งที่กระทำต่อวัตถุทั้งขนาด และทิศทาง โดยแรงมีหน่วยเป็นนิวตัน (N)
การเกิดของแรงลัพธ์มี 3 รูปแบบคือ
1. หากมี 2 แรง ผลักวัตถุไปตามพื้นราบในทิศทางเดียวกัน แรงทั้งสองแรงจะรวมเข้าด้วยกันเป็นแรงลัพธ์ที่ทำให้วัตถุเคลื่อนที่
2. หากมีแรง 2 แรง ผลักวัตถุไปตามพื้นราบในทิศทางตรงข้ามกัน หากแรงด้านใดมีมากกว่า วัตถุจะเคลื่อนที่ไปตามทิศทางของแรงนั้น
3. หากมีแรง 2 แรง ผลักวัตถุไปตามพื้นราบในทิศทางตรงกันข้าม และแรงทั้งสองแรงมีขนาดเท่ากัน วัตถุจะไม่เคลื่อนที่
สรุปคือ ถ้าแรงลัพธ์มีการกระทำต่อวัตถุ นั่นคือทำให้วัตถุเกิดการเคลื่อนที่ แรงลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นต้องไม่เป็นศูนย์ แต่ถ้าแรงที่กระทำต่อวัตถุนั้นไม่ทำให้วัตถุเคลื่อนที่ แรงลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะมีค่าเป็นศูนย์
ในชีวิตประจำวันของเรา มีการนำแรงลัพธ์มาใช้ประโยชน์มากมาย เช่น การสร้างสะพานแขวน การปั่นจักรยานพ่วง การใช้สุนัขหลาย ๆ ตัวลากเลื่อน เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร