สภาพอากาศกับวัฏจักรน้ำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 13.5K views



อุณหภูมิของโลกเราอยู่ในช่วงที่น้ำเป็นได้ทั้ง 3 สถานะ น้ำที่อยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ทะเล แม่น้ำ ห้วย คลอง หนอง บึง ส่วนใหญ่เป็นของเหลว เมื่อได้รับความร้อนก็จะระเหยกลายเป็นไอน้ำ อยู่ในสถานะแก๊ส ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า กระทบกับอากาศเย็น เกิดการควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำ หรือแข็งตัวกลายเป็นของแข็งหรือเกล็ดน้ำแข็ง รวมตัวกันเป็นเมฆ เมื่อรวมตัวกันมาก ๆ ก็ตกลงมาสู่พื้นดินในรูปของหยาดน้ำฟ้า แล้วไหลกลับคืนสู่แหล่งน้ำตามเดิม รอจนได้รับความร้อนที่เพียงพอจนระเหยเป็นไอน้ำอีกครั้ง หมุนเวียนเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด

ภาพ : shutterstock.com

 

อุณหภูมิหรือพลังงานความร้อนโดยเฉพาะจากดวงอาทิตย์ จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดวัฏจักรน้ำหมุนเวียนเรื่อยไป อุณหภูมิสูง อากาศร้อน ทำให้น้ำเกิดการระเหยเปลี่ยนเป็นไอ อุณหภูมิต่ำ อากาศเย็น ทำให้ไอน้ำเกิดการควบแน่นกลับเป็นละอองน้ำในก้อนเมฆ

ความกดอากาศก็สัมพันธ์กับวัฏจักรน้ำ เมื่อความร้อนทำให้อากาศขยายตัว ความกดอากาศบริเวณนั้นก็จะลดลง อากาศที่มีความหนาแน่นมากกว่าก็จะเคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่ ก่อให้เกิดกระแสลมพัดพาก้อนเมฆที่เกิดเหนือมหาสมุทรเข้ามายังภาคพื้นทวีป

ความชื้นในอากาศก็เกี่ยวพันกับวัฏจักรของน้ำเช่นกัน ความชื้นในอากาศก็คือไอน้ำที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศนั่นเอง ถ้าอากาศแห้ง ก็จะทำให้น้ำระเหยเป็นไอได้มาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากแหล่งน้ำ ไอน้ำที่ระเหยจากเหงื่อและลมหายใจของสัตว์รวมทั้งมนุษย์ ไอน้ำจากการคายน้ำของใบไม้ ไอน้ำจากการตากผ้า ไอน้ำเหล่านี้จะลอยขึ้นไปรวมตัวกันเป็นเมฆฝน ถ้าอากาศมีความชื้นสูง การระเหยของน้ำจะเกิดขึ้นน้อย แต่ความชื้นจะทำให้เมฆหยดลงมาเป็นฝน ทำให้เกิดหมอกและน้ำค้างนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าสภาพอากาศนั้นเชื่อมโยงกับวัฏจักรน้ำอย่างแยกไม่ได้ เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดวงจรของน้ำ จากทะเล แม่น้ำ สิ่งมีชีวิต ลอยขึ้นไปเป็นก้อนเมฆ แล้วโปรยปรายลงมา บนภูเขา บนพื้นดิน ผ่านป่าไม้ ไหลลงตามแหล่งน้ำใต้ดิน แม่น้ำ แล้วกลับคืนสู่ทะเล ก่อกำเนิดและเลี้ยงบำรุงชีวิตนับอนันต์

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย