การเคลื่อนที่ของอากาศขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ อากาศแต่ละแห่งบนโลกมีอุณหภูมิแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาเหตุหลักประการหนึ่งคือความสามารถในการเก็บสะสมและถ่ายเทความร้อนของวัตถุต่างชนิดกัน เช่น พื้นดิน กับ พื้นน้ำ หรือ พื้นดิน กับ อากาศ ในตอนกลางวัน ถ้ารังสีจากดวงอาทิตย์ส่องลงมาบนพื้นดินและผิวน้ำเท่า ๆ กัน พื้นดินจะร้อนไวกว่าพื้นผิวน้ำ แต่ในตอนกลางคืน พื้นดินจะคายความร้อนและเย็นลงเร็วกว่าผิวน้ำ นั่นเป็นเพราะดินถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่าน้ำ อุณหภูมิของพื้นดินในเวลากลางวันและกลางคืนแตกต่างกันอย่างมาก ในขณะที่อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า ในกรณีของพื้นดินและอากาศ ก็เช่นเดียวกัน พื้นดินถ่ายเทอุณหภูมิได้ดีกว่าอากาศ จึงก่อให้เกิด ลมบก ลมทะเล ลมภูเขา และลมหุบเขา
ลมบกและลมทะเล
บริเวณชายทะเล ในช่วงเวลากลางวัน พื้นดินร้อนกว่าพื้นน้ำทะเล ทำให้อากาศเหนือพื้นดินร้อนกว่าอากาศเหนือผิวน้ำทะเลด้วย อากาศเหนือพื้นดินจึงขยายตัวและมีความหนาแน่นน้อยกว่า อากาศเหนือผิวน้ำทะเลจึงเคลื่อนที่เข้าหาชายฝั่งแล้วผลักอากาศเหนือพื้นดินให้ลอยสูงขึ้นไป เกิดเป็นลมพัดเข้าหาชายฝั่ง เรียกว่า “ลมทะเล”
ส่วนในช่วงเวลากลางคืน พื้นดินคายความร้อนเร็วกว่าน้ำทะเล ทำให้อากาศเหนือน้ำทะเลร้อนกว่าและมีความหนาแน่นน้อยกว่า อากาศเหนือพื้นดินที่หนาแน่นกว่าจึงเคลื่อนตัวออกไปในทะเลเพื่อแทนที่อากาศบริเวณผิวน้ำทะเลที่ลอยขึ้นสูง เกิดเป็นลมพัดออกจากชายฝั่ง เรียกว่า “ลมบก”
ลมภูเขาและลมหุบเขา
บริเวณภูเขาสูง ในเวลากลางวัน อากาศบริเวณยอดเขาได้รับการถ่ายเทความร้อนจากดินบนภูเขา จึงร้อนกว่าอากาศในหุบเขา อากาศในหุบเขาจึงเคลื่อนตัวเข้าแทนที่อากาศบริเวณยอดเขา เกิดเป็นลมพัดขึ้นสู่ยอดเขา เรียกว่า “ลมหุบเขา”
ส่วนในเวลากลางคืน ดินบนยอดเขาเย็นตัวรวดเร็ว อากาศบริเวณยอดเขาจึงเย็นกว่าอากาศในหุบเขา จึงเคลื่อนตัวไปแทนที่อากาศในหุบเขา เกิดเป็นลมพัดลงสู่หุบเขา เรียกว่า “ลมภูเขา”
เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย