การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของสัตว์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 134.2K views



การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของสัตว์ เกิดจากการผสมกันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (อสุจิ) และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (ไข่) แบ่งออกเป็น การปฏิสนธิภายในร่างกาย และการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย

การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของสัตว์ จะเกิดขึ้นเมื่อสัตว์เจริญเติบโตเต็มที่ ต้องอาศัยเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย โดยเพศผู้จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ที่อัณฑะ เรียกว่า อสุจิ หรือสเปิร์ม ส่วนในเพศเมียจะสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียที่รังไข่ เรียกว่า ไข่ ดังนั้น อัณฑะ และรังไข่ จึงเป็นอวัยวะสำคัญของสัตว์ที่สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เมื่ออสุจิหรือสเปิร์ม กับไข่ มาผสมกันจะเกิดการปฏิสนธิขึ้นได้เป็นเซลล์ใหม่ เรียกว่า ไซโกต (Zygote) ซึ่งสามารถเจริญพัฒนาไปเป็นตัวอ่อน และเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป


การปฏิสนธิของสัตว์มี 2 ประเภท ได้แก่

1. การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย

เป็นการที่เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (อสุจิ) เข้าผสมกับเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (ไข่) ภายนอกร่างกายของสัตว์ตัวเมีย โดยมีน้ำเป็นตัวกลางช่วยพาอสุจิให้เคลื่อนที่เข้าไปผสมกับไข่ หลังจากนั้น ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะฟักเป็นตัวต่อไป การปฏิสนธิภายนอกร่างกายจะพบในสัตว์น้ำประเภทปลา และสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก

ภาพ : shutterstock.com


2. การปฏิสนธิภายในร่างกาย

เป็นการที่เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (อสุจิ) เข้าไปผสมกับเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (ไข่) ภายในร่างกายของสัตว์เพศเมีย โดยสัตว์เพศผู้มีการจับคู่ผสมพันธุ์กับสัตว์เพศเมียเพื่อปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ (อสุจิ) ให้เข้าไปผสมกับเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (ไข่) ภายในร่างกายของสัตว์เพศเมีย แล้วสัตว์เพศเมียจะออกลูก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

      2.1) สัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย และคลอดลูกออกมาเป็นไข่ที่มีเปลือกแข็ง หรือเป็นไข่ที่มีเปลือกเหนียวหุ้ม ได้แก่ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น จระเข้ เต่า งูบางชนิด หรือสัตว์ปีก เช่น ไก่ นก เป็ด ห่าน
      2.2) สัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายในร่างกายและคลอดลูกออกมาเป็นตัว ได้แก่ สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น สุนัข แมว ช้าง ม้า วัว ควาย ลิง ลา โลมา วาฬ พะยูน ปลาบางชนิด เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสายรุ้ง ปลาสอด เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร