การขยายพันธุ์พืชมี 2 แบบคือ การขยายพันธุ์พืชแบบอาศัยเพศ โดยการปฏิสนธิของพืชดอก และการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น การตอน การตัดชำ การติดตาต่อกิ่ง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นต้น
รายละเอียดของการขยายพันธุ์พืชแต่ละวิธีมีดังนี้
1. การขยายพันธุ์จากส่วนต่าง ๆ ของพืช ได้แก่
- ลำต้นใต้ดิน ตัวอย่างเช่น ขมิ้นขาว แง่งขิง มันฝรั่ง เหง้าพุทธรักษา
- ลำต้นที่เป็นกิ่งโดยการปักชำ ตัวอย่างเช่น พู่ระหง พลูด่าง ผกากรอง มันสำปะหลัง มันเทศ ฤาษีผสม
- ใบ ตัวอย่างเช่น ต้นตายใบเป็น โคมญี่ปุ่น กุหลาบหิน
- ราก ตัวอย่างเช่น มันเทศ มันสำปะหลัง หัวผักกาด กระชาย
- หน่อ ตัวอย่างเช่น กล้วย กล้วยไม้แคทลียา
2. การตอน โดยการควั่นรอบกิ่งที่มีอายุพอสมควร ให้เหลือแต่ส่วนท่อลำเลียงน้ำหรือเนื้อไม้ไว้ นำดินร่วนผสมปุ๋ยมาพอกปิดรอบรอยควั่นและนำวัสดุ เช่น กาบมะพร้าวหุ้มรอยให้มิดชิด เมื่อกิ่งงอกรากดีแล้วก็ตัดไปชำก่อนปลูกหรือตัดปลูกเลย ต้นที่ปลูกและตั้งตัวได้จะกลายเป็นต้นพืชใหม่ต่อไป
3. การตัดชำ เป็นการทำให้ส่วนต่าง ๆ ของพืช ออกรากและแตกยอดเป็นต้นใหม่ หลังจากที่ตัดออกมาจากต้นแม่แล้ว เช่น ตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของต้น ราก หรือใบ แล้วนำไปแช่ไว้ในวัสดุที่เหมาะสม เช่น ความชื้น อุณหภูมิ และออกซิเจนที่พอเพียง ส่วนการปักชำ หมายถึง ต้นและกิ่งที่นำมาปักเท่านั้น
4. การติดต่อต่อกิ่ง เป็นการเชื่อมส่วนของพืช ระหว่างต้นตอกับกิ่งพันธุ์ ให้เจริญเติบโตกลายเป็นพืชต้นเดียวกัน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- การติดตา หมายถึง การนำแผ่นตาเพียงแผ่นเดียวจากกิ่งพันธุ์ดีไปติดกับต้นตอ เพื่อให้ได้พันธุ์ตามต้องการ และสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นพืชต้นเดียวกันได้
- การต่อตา หมายถึง การนำกิ่งพันธุ์ที่มีมากกว่า 1 ตา ไปทำการต่อกิ่งบนต้นตอ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีตามต้องการ พืชที่ขยายพันธุ์แบบนี้ เช่น ชบา มะม่วง พุทรา โกสน ฯลฯ
- การทาบกิ่ง หมายถึง การนำต้นพืช 2 ต้น ซึ่งต่างก็ยังมีรากและยอดด้วยกันมาทำให้เชื่อมประสานติดกันเป็นเนื้อเดียวกัน
5. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ บางชนิด เช่น กล้วยไม้ โดยตัดเอาตาอ่อน ยอดอ่อน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชเล็กน้อย ไปเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์บนวุ้นในสภาพปลอดเชื้อ ตาอ่อน หรือส่วนของพืช จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นมากมาย และสามารถตัดแบ่งไปเลี้ยงในอาหารใหม่ จนเจริญเป็นต้นใหม่ได้อีกเป็นจำนวนมากมายตามต้องการ
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร