การถ่ายละอองเรณู คือ การที่ละอองเรณูไปตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย มีทั้งการถ่ายละอองเรณูในดอกเดียวกัน และการถ่ายละอองเรณูข้ามดอก มีปัจจัยที่ช่วยในการถ่ายละอองเรณูหลายประการ เช่น แมลง ลม น้ำ คน สัตว์ เป็นต้น
การถ่ายละอองเรณู คือ การที่ละอองเรณูไปตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย ละอองเรณูจะได้น้ำหวานซึ่งเป็นอาหารที่อยู่บนยอดเกสรตัวเมีย ละอองเรณูจะเจริญโดยการสร้างหลอดละอองเรณูเป็นหลอดยาวลงไปตามก้านเกสรตัวเมียไปยังรังไข่
การถ่ายละอองเรณูเกิดได้ 2 ลักษณะ คือ การถ่ายละอองเรณูในดอกเดียวกัน (Self-Pollination) และ การถ่ายละอองเรณูข้ามดอก (Pollination)
ปัจจัยที่ช่วยในการถ่ายละอองเรณู (Pollinator) มีหลายประการ เช่น แมลง ลม น้ำ คน สัตว์ ตัวอย่างเช่น
- เมื่ออับละอองเรณูแตกออก ลมจะพัดพาละอองเรณูให้ปลิวไปตกบนยอดเกสรตัวเมีย
- เมื่อแมลงพวกผึ้ง ผีเสื้อ บินมาตอมดอกไม้เพื่อกินน้ำหวาน ละอองเรณูจะติดขาแมลงไปติดดอกอื่น
- แรงน้ำจากการรดน้ำต้นไม้หรือน้ำฝน ทำให้ละอองเรณูกระเด็นไปตกบนยอดเกสรตัวเมีย
- คนช่วยผสมเกสรดอกไม้ โดยนำเอาละอองเรณูมาแตะบนยอดเกสรตัวเมีย
- เมื่อสัตว์เดินผ่าน ละอองเรณูก็อาจติดไปตามตัวของสัตว์ หรือเกิดแรงสะเทือน ทำให้ละอองเรณูหลุดและลอยไปตามลมไปตกบนยอดเกสรตัวเมียได้
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร