กระบวนการเปลี่ยนแปลงของหิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 30K views



หินในธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยปัจจัยต่าง ๆ เช่นปัจจัยทางสภาพอากาศ ได้แก่ ลม พายุ ฝน หิมะ แสงแดด อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง หรือปัจจัยทางธรณีวิทยา ได้แก่ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม หลุมยุบ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดวัฏจักรของหิน จากหินอัคนีและหินแปร เมื่อผุกร่อนลงเป็นเศษตะกอน ก็จะเกิดการทับถมเกาะตัวกันกลายเป็นหินตะกอน เมื่อหินตะกอนและหินอัคนีเกิดการแปรสภาพจากแรงดันและอุณหภูมิสูงก็จะกลายเป็นหินแปร และเมื่อหินแปรและหินตะกอนเกิดการหลอมเหลวกลายเป็นหินหนืด เมื่อเย็นตัวลงก็จะเกิดเป็นหินอัคนีอีกครั้งหนึ่ง

ภาพ : shutterstock.com


ในการเปลี่ยนแปลงไปเป็นหินหนืด หินจะได้รับอุณหภูมิที่สูงมากจนถึงจุดหลอมเหลวของแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของหินนั้น ส่วนการแปรสภาพของหินก็อาศัยแรงดันมหาศาล และการเกิดหินตะกอนก็อาศัยการทับถมกันเป็นชั้น ๆ ของเศษตะกอนหิน ดิน และซากอินทรีสารต่าง ๆ ซึ่งตะกอนหินต่าง ๆ นั้นมาจากการกร่อนและการผุพังอยู่กับที่ของหิน

ภาพ : shutterstock.com

การกร่อนของหินเกิดจาก การกัดเซาะของกระแสลม การพัดพาของกระแสน้ำ การเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็ง และแรงโน้มถ่วงของโลก ที่ทำให้หินเกิดการสึกกร่อน หลุดแตกออกจากกัน กระทบเสียดสีกันจนกลายเป็นก้อนกลมมน


ส่วนการผุพังอยู่กับที่ของหิน สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ

ภาพ : shutterstock.com

1. การผุพังอยู่กับที่โดยกระบวนการทางกายภาพ เช่น การขยายตัวของน้ำแข็งตามร่องหิน ทำให้หินแตกออกจากกัน การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิระหว่างวัน ทำให้ก้อนหินเกิดการขยายตัวและหดตัว ไม่เท่ากันจนเกิดรอยแตกร้าว แรงกด แรงดัน แรงบีบจากรากพืชที่ชอนไชไปตามซอกหิน ทำให้หินผุพังอยู่กับที่

ภาพ : shutterstock.com

2. การผุพังอยู่กับที่โดยกระบวนการทางเคมี เช่น การกัดเซาะของน้ำฝนที่มีสภาพเป็นกรดอ่อน ๆ ทำให้หินปูนค่อย ๆ ละลายไปเรื่อย ๆ การเกิดสนิมของแร่เหล็กที่ปะปนอยู่ในก้อนหินทำให้หินพรุน เปราะแตกง่าย

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย