ดาราศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 13.8K views



นักปราชญ์ในอดีตศึกษาปรากฏการณ์ของดวงดาวเพื่อไขปริศนาในจักรวาลวิทยา (Cosmology) ต่อมาแยกเป็นสองสาย คือ โหราศาสตร์ (Astrology) การทำนายโชคชะตาโดยอ้างอิงดวงชะตาของผู้คนกับการเปลี่ยนแปลงของดวงดาว และดาราศาสตร์ (Astronomy) คือวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาวัตถุท้องฟ้า หมายถึงดวงดาวต่าง ๆ ในดาราจักร ทั้งดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ดาวหาง ฯลฯ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดในห้วงอวกาศ โดยอาศัยเทคโนโลยีอวกาศอันทันสมัยเพื่อการสังเกตการณ์ที่กว้างไกลและแม่นยำมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ กล้องโทรทรรศน์ จรวด ดาวเทียม สถานีอวกาศ กระสวยอวกาศ ยานอวกาศ เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com


วัฒนธรรมโบราณในโลกต่างศึกษาปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเพื่อเข้าใจธรรมชาติมาเป็นเวลาหลายพันปี ทั้งชาวเมโสโปเตเมีย ชาวอียิปต์ ชาวมายา ชาวกรีก ชาวอินเดีย และชาวจีน ชนชาติเหล่านี้ อาศัยการสังเกตปรากฏการณ์ของดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และความสัมพันธ์ต่อสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ และจดบันทึกเป็นสถิติ จนสามารถกำหนดทิศทาง สร้างแผนที่ คำนวณเวลา สร้างปฏิทินจันทรคติ สุริยคติ กำหนดชั่วยาม วัน สัปดาห์ ปักษ์ ข้างขึ้นข้างแรม เดือน ปี ฤดูกาลต่าง ๆ สามารถพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า รู้เวลาน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ การเดินทางคมนาคมเพื่อการค้าขาย ตลอดจนการทำสงคราม

แม้ภูมิปัญญาของคนโบราณจะสูงส่งเพียงใด แต่การเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าไม่ทำให้องค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ก้าวหน้าไปไกลมากนักเมื่อเทียบกับระยะเวลาหลายพันปี จนกระทั่งมีการสร้างกล้องโทรทรรศน์เพื่อใช้ดูดาวขึ้น มนุษย์จึงได้เห็นวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นที่มาของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากนี้ส่งผลให้มนุษย์สร้างจรวดส่งยานออกไปสำรวจอวกาศด้วยตัวเองได้ในที่สุด


กล้องโทรทรรศน์

ภาพ : shutterstock.com


แม้ว่า “กาลิเลโอ กาลิเลอี” บิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่จะไม่ใช่คนแรกที่ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นมาได้ แต่เขาเป็นคนพัฒนาระบบเลนส์ของกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง และนำมันมาใช้งานทางด้านดาราศาสตร์เป็นคนแรก โดยผลจากการส่องกล้องทำให้กาลิเลโอสนับสนุนความคิดของ “โคเปอร์นิคัส” ที่ว่า “ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่โลก” ก่อนที่อีกเกือบ 60 ปีต่อมา “ไอแซก นิวตัน” จะออกแบบและประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงออกมาเพื่อแก้ไขความคลาดเคลื่อนของสีแสงของกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงได้สำเร็จ แต่ทว่ากล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงเองก็กลับมีปัญหาด้านความสว่างเช่นกัน

ภาพ : shutterstok.com

การเดินทางสู่อวกาศ

ภาพ : shutterstock.com


ยูรี กาการิน (Yuri Gagarin) นักบินอวกาศชาวโซเวียต ไม่ใช่มนุษย์คนแรกของโลกที่ได้เดินทางออกไปสู่อวกาศ แต่เขาเป็นคนแรกที่ได้กลับมาอย่างปลอดภัยในภารกิจโคจรรอบโลก 1 รอบด้วยยาน “วอสตอค 1” (Vostok 1) เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2504 ก่อนที่ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) นักบินอวกาศชาวอเมริกัน จะออกเดินทางด้วยยาน “อพอลโล 11” (Apollo 11) ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 เพื่อไปสำรวจดวงจันทร์ และเขาเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ประทับรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่มนุษย์จะกล้าขึ้นยานออกไปสำรวจอวกาศ มีสัตว์มากมายที่ได้ถูกส่งขึ้นไปพร้อมยานอวกาศก่อนแล้ว อย่างเช่น ไลกา (Laika) สุนัขอวกาศโซเวียตที่ได้ขึ้นยานอวกาศ “สปุตนิก 2” (Sputnik 2) ไปโคจรรอบโลก แต่น่าเศร้าที่มันไม่รอดกลับมา

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย