พื้นที่บนโลกที่อยู่นอกเหนือเขตร้อน (เขตอบอุ่นและเขตหนาว) จะมี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ส่วนพื้นที่เขตร้อน (Tropical Region) ซึ่งอยู่เหนือและใต้เส้นศูนย์สูตรไม่เกิน 23.5 องศา จะมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งฤดูฝนนี้เป็นผลมาจากลมมรสุม (Monsoon)
ในส่วนของประเทศไทย เนื่องจากตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรไม่มากนัก จึงมีภูมิอากาศแบบเขตร้อน และเนื่องจากตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีนจึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมเกือบทั้งปี โดยแบ่งเป็น 3 ฤดู ได้แก่
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนที่สุดในรอบปี
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนกลางเดือนตุลาคม ซีกโลกเหนือเอียงหันหาแสงอาทิตย์ พื้นทวีปและบริเวณทะเลจีนใต้อากาศร้อน ความกดอากาศต่ำกว่าบริเวณมหาสมุทรอินเดียที่เย็นกว่า จึงเกิดลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย พัดพาความชุ่มชื้นเข้ามาสู่ประเทศไทย ความร้อนจึงลดน้อยลง
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซีกโลกเหนือเอียงหลบแสงอาทิตย์ บริเวณประเทศจีนและมองโกเลียอากาศหนาวเย็น ความกดอากาศสูง ส่วนมหาสมุทรอินเดีย อากาศร้อน ความกดอากาศต่ำ จึงเกิดลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดพาเอาความหนาวเย็นและแห้งแล้งเข้ามายังประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม พื้นที่แต่ละภาคของประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันไป ภาคใต้ขนาบด้วยมหาสมุทรอินเดียและทะเลอ่าวไทย เมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดมา ก็จะหอบเอาน้ำฝนจากอ่าวไทยมาสู่ภาคใต้ด้วย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี จนมีคำกล่าวว่า “ฝนแปด แดดสี่” หมายถึงฝนตกถึงแปดเดือน ร้อนอีกสี่เดือน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้น้อยกว่าภาคอื่น จึงค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่น ๆ ในช่วงฤดูหนาวอากาศจึงแห้งแล้งและหนาวเย็นมาก
เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย