การโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก และการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ บางครั้งทำให้เกิดการเรียงตัวเป็นเส้นตรงของดาวทั้งสามดวงในชั่วขณะหนึ่ง หากดวงจันทร์โคจรไปอยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์โดยเรียงเป็นเส้นตรงพอดี ก็จะบังแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก เกิดเป็น “สุริยุปราคา” (Solar Eclipse) หรือสุริยคราส
สุริยคราสนั้นจะเกิดตอนกลางวันของวันแรม 15 ค่ำเท่านั้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์โคจรไปอยู่ฝั่งเดียวกับดวงอาทิตย์ แต่เพราะวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นคนละระนาบกับวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้สุริยุปราคาไม่ได้เกิดขึ้นในทุก ๆ วันเดือนดับ มีเพียงบางครั้งเท่านั้นที่ดาวทั้งสามดวงจะเรียงตัวกันเป็นเส้นตรงพอดี
ขนาดของดวงจันทร์นั้นเล็กกว่าโลก และเทียบไม่ได้เลยกับขนาดของดวงอาทิตย์ แต่เพราะระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์และโลกนั้นไกลมากกว่าระยะห่างของโลกและดวงจันทร์หลายร้อยเท่า ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มีขนาดใกล้เคียงกันจากบนพื้นโลก ดวงจันทร์จึงสามารถบดบังดวงอาทิตย์จนมืดมิดได้
เมื่อเกิดสุริยคราส จะมีเพียงบางส่วนของพื้นโลกเท่านั้นที่สามารถมองเห็นการเกิดคราสแบบสมบูรณ์ (Total Solar Eclipse) คือ มองเห็นดวงจันทร์เคลื่อนไปบดบังดวงอาทิตย์จนมืดดับไปทั้งดวง ซึ่งก็คือบริเวณที่ “เงามืด” (Umbra) ของดวงจันทร์ตกลงพอดี ส่วนที่บริเวณรอบ ๆ ของจุดเงามืดจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใน “เงามัว” (Penumbra) คนที่อยู่ในบริเวณเงามัวจะมองเห็นสุริยุปราคาบางส่วนเท่านั้น (Partial Solar Eclipse) ไม่ได้เห็นสุริยคราสเต็มดวง แสงอาทิตย์เพียงแค่หรี่ลงเป็นแสงสลัว ไม่ถึงกับมืดมิด
ขนาดของดวงจันทร์ที่เราสังเกตเห็นได้จากบนโลกนั้นจะไม่เท่ากันในแต่ละวัน เพราะดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี ไม่ใช่วงกลม (วงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ก็เป็นวงรีเช่นกัน) ช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมาก เราจะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดเล็กลง หากเกิดสุริยคราสในช่วงเวลานั้น เราจะเห็นดวงจันทร์เล็กกว่าดวงอาทิตย์และไม่สามารถบดบังดวงอาทิตย์ได้ทั้งดวง ทำให้เกิดสุริยุปราคาแบบวงแหวน คือจะเห็นแสงอาทิตย์สว่างเป็นวงแหวนรอบเงามืดของดวงจันทร์ ซึ่งเกิดจากการที่ดวงจันทร์เคลื่อนออกห่างโลกไปทางดวงอาทิตย์มากขึ้น เงามืดที่เกิดขึ้นจึงตกลงมาไม่ถึงพื้นโลก มีเพียงเงามัวเท่านั้น ดังนั้นเราจึงแบ่งปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้เป็น 3 รูปแบบคือ สุริยุปราคาเต็มดวง สุริยุปราคาบางส่วน และสุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse)
สุริยคราสเต็มดวงนั้น เมื่อเกิดขึ้นก็จะกินเวลาไม่นานนัก เพียงไม่กี่นาทีดวงอาทิตย์ก็จะค่อย ๆ กลับมาสว่างดังเดิม เพราะเงามืดจากดวงจันทร์นั้นกินบริเวณพื้นที่บนผิวโลกน้อย
ในอดีต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาในประเทศไทยไว้ได้อย่างแม่นยำเป็นครั้งแรกของสยามประเทศ คือเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 โดยสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้ที่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ อำเมืองเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย