ข้างขึ้น ข้างแรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 56.4K views



ดวงจันทร์เป็นดาวบริวารของโลก จากการหมุนโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เปลี่ยนไปในแต่ละวัน เกิดเป็นข้างขึ้นและข้างแรม เรากำหนดช่วงเวลาที่ดวงจันทร์สว่างเต็มดวงหรือจันทร์เพ็ญค่อย ๆ มืดลงจนอับแสง แล้วค่อย ๆ สว่างขึ้นจนจันทร์เต็มดวงอีกครั้งเท่ากับ 1 เดือน

โลกเรามีดวงจันทร์เป็นดาวบริวารเพียงดวงเดียว ดวงจันทร์นั้นโคจรรอบโลกในขณะที่หมุนรอบตัวเองไปด้วย โดยคาบเวลาที่หมุนรอบตัวเองครบหนึ่งรอบเท่ากันกับคาบเวลาที่หมุนรอบโลกครบหนึ่งรอบพอดี คือประมาณ 28 วัน (แต่ถ้าเทียบตำแหน่งของดวงจันทร์กับโลกและดวงอาทิตย์ด้วย ดวงจันทร์จะใช้เวลาโคจรรอบโลกเกือบ 30 วัน) ดังนั้น เราจึงเห็นดวงจันทร์เพียงด้านเดียวเสมอ (คือด้านที่มองเห็นเป็นรูปกระต่าย) อีกด้านหนึ่งของดวงจันทร์จะหันออกไปสู่อวกาศเสมอเช่นกัน

ภาพ : shutterstock.com
ภาพ : shutterstock.com

ดวงจันทร์นั้นไม่มีแสงสว่าง แต่เราเห็นแสงจันทร์ได้เพราะพื้นผิวของดวงจันทร์สะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์นั่นเอง ซึ่งหากแสงอาทิตย์ส่องกระทบพื้นผิวส่วนไหน ด้านนั้นก็จะสะท้อนแสงสว่าง ส่วนด้านฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นเงามืด โดยในหนึ่งเดือน เราจะเห็นแสงและเงาของดวงจันทร์ในมุมต่าง ๆ กัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงจันทร์ที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่ดวงจันทร์ส่องสว่างเต็มดวง แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นมีเงามืดทีละน้อยไปจนกระทั่งดวงจันทร์มืดสนิท

การเปลี่ยนแปลงนี้จะกินเวลาราว 14-15 วัน เรียกช่วงเวลานี้ว่า “ข้างแรม” และหลังจากนั้นเราจะเห็นดวงจันทร์เริ่มมีแสงสว่างขึ้นมาทีละน้อย จนกระทั่งกลับมาเต็มดวงอีกครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะใช้เวลาเท่ากัน เรียกช่วงเวลานี้ว่า “ข้างขึ้น”

โลกหมุนรอบตัวเอง เราจึงเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ดวงจันทร์ก็เช่นเดียวกัน เราในฐานะผู้สังเกตบนพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก และเพราะว่าโลกหมุนจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก หรือหมุนทวนเข็มนาฬิกาเมื่อมองจากทางขั้วโลกเหนือ ซึ่งดวงจันทร์ก็โคจรรอบโลกแบบทวนเข็มนาฬิกาด้วยเช่นกัน

หมายความว่าดวงจันทร์หมุนไปทางเดียวกันกับที่โลกหมุน จึงทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์โคจรช้ากว่าดวงอาทิตย์ คือถ้าสมมติว่าดวงอาทิตย์ใช้เวลาโคจรบนท้องฟ้าตั้งแต่ขึ้นจนกระทั่งตกเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ดวงจันทร์จะใช้เวลาอยู่บนท้องฟ้านานกว่านั้น 24 นาที (ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้าช้ากว่าเดิมวันละ 48 นาที ดวงดาวจักรราศีจะขึ้นจากขอบฟ้าเร็วกว่าเดิมวันละ 4 นาที)

ตามปฏิทินจันทรคติ เราจะนับวันขึ้น 1 ค่ำ เป็นวันเริ่มต้นเดือนใหม่ เราจะเริ่มเห็นแสงจันทร์เสี้ยว ใกล้จะลับขอบฟ้าตะวันตกหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วไม่นาน แสงจันทร์จะสว่างมากขึ้นทุกวัน ราว ๆ วันขึ้น 7-8 ค่ำ เราจะเห็นจันทร์ครึ่งดวงสว่างอยู่กลางท้องฟ้าหลังตะวันตกดิน จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เราจะเห็นพระจันทร์เต็มดวง (Full Moon)

ในช่วงเวลานี้ดวงจันทร์จะอยู่ด้านตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ถ้านับโลกเป็นศูนย์กลาง เราจึงจะเห็นพระจันทร์เต็มดวงลอยขึ้นจากขอบฟ้าตะวันออกเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน และแสงจันทร์จะเลือนหายไปทางขอบฟ้าตะวันตกเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า

ภาพ : shutterstock.com

หลังจากวันขึ้น 15 ค่ำ ก็จะเข้าสู่ข้างแรม โดยเริ่มที่แรม 1 ค่ำ ดวงจันทร์ยังคงสว่างอยู่มาก เราจะเห็นแสงเว้าไปเพียงเสี้ยวเดียว ดวงจันทร์จะโผล่จากขอบฟ้าช้ากว่าเดิมไปเรื่อย ๆ จนถึงช่วงวันแรม 7-8 ค่ำ เราจะเห็นจันทร์เพียงครึ่งดวงโผล่จากขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืน และลอยอยู่กลางท้องฟ้าในเวลารุ่งเช้าพอดี

จนกระทั่งถึงวันแรม 15 ค่ำ คือวันเดือนดับ (New Moon) อันเป็นวันสุดท้ายของเดือนทางจันทรคติ เราจะมองไม่เห็นดวงจันทร์ เพราะดวงจันทร์ย้ายมาอยู่ฝั่งเดียวกับพระอาทิตย์ จึงไม่มีแสงสะท้อนให้เราเห็น เราจะเห็นเงาดวงจันทร์ขึ้นตอนเช้าและตกลับฟ้าไปในตอนค่ำพร้อม ๆ กับดวงอาทิตย์ ในยามราตรีของวันนี้จึงไม่มีดวงจันทร์

เมื่อรวมเวลาข้างขึ้นและข้างแรมแล้ว เท่ากับว่าเราจะได้เห็นดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้งห่างกันเป็นเวลาประมาณ 30 วัน หรือ 1 เดือนตามปฏิทินจันทรคตินั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย