อากาศในลมหายใจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 62.6K views



สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนต้องหายใจ มนุษย์เราหายใจอยู่ตลอดเวลาจึงดำรงชีวิตอยู่ได้ เราหายใจเอาอากาศเข้าสู่ปอดแล้วระบายอากาศออกมาจากปอด แต่อากาศในลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนั้นไม่เหมือนกัน เพราะเรารับเอาแก๊สบางอย่างจากอากาศมาใช้ แล้วคืนแก๊สอีกอย่างหนึ่งออกมาแทน แก๊สที่ว่าก็คือ "ออกซิเจน" และ "คาร์บอนไดออกไซด์"

ภาพ : shutterstock.com


อากาศประกอบไปด้วยแก๊สมากมายหลายชนิดปะปนกัน สัดส่วนของแก๊สแต่ละชนิดในอากาศแต่ละบริเวณไม่เท่ากัน แต่โดยปรกติแล้ว ในอากาศจะประกอบไปด้วย

ไนโตรเจน (Nitrogen) 78%
ออกซิเจน (Oxygen) 21%
คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) 0.04%
ฝุ่น ไอน้ำและแก๊สอื่น ๆ 0.96%

ภาพ : shutterstock.com


แก๊สที่เราหายใจเข้าไปเหล่านี้ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ติดไฟ (แต่ออกซิเจนช่วยให้ไฟติด) เราไม่สามารถแยกแยะแก๊สเหล่านี้ได้ด้วยการดมกลิ่น แต่ถ้าเราอยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนน้อยเกินไป เราจะเริ่มรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก มึนงง และอาจเกิดอาการหน้ามืด หมดสติได้ นั่นเพราะเราต้องการออกซิเจนจากการหายใจเข้านั่นเอง โดยเราสามารถสังเกตความต้องการในการใช้ออกซิเจนของร่างกายเราได้ จากการเปรียบเทียบแก๊สในลมหายใจเข้าและออก

 

ลมหายใจเข้าประกอบไปด้วยแก๊สต่าง ๆ ในสัดส่วนเดียวกับอากาศทั่วไป แต่ในลมหายใจออกพบว่าประกอบด้วย

ไนโตรเจน 78% (คงเดิม)
ออกซิเจน 16% (ลดลง)
คาร์บอนไดออกไซด์ 4% (เพิ่มขึ้น)
ไอน้ำและแก๊สอื่น ๆ 2% (ฝุ่นไม่ออกมาด้วย ไอน้ำเพิ่มขึ้น)

แสดงว่า ร่างกายของเรารับเอาออกซิเจนเข้าไปใช้งาน และระบายคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งไอน้ำออกมา ส่วนฝุ่นที่หายไปนั้น ร่างกายไม่ได้รับเข้าไป แต่ฝุ่นจะถูกดักจับอยู่ในรูจมูกนั่นเอง ยกเว้นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (ฝุ่นละออง PM 2.5)

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย