เลือดเป็นของเหลวข้นสีแดง ที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายสัตว์หลากหลายชนิด มนุษย์มีเลือดไหลเวียนอยู่ในร่างกายราว 5 ลิตร หากเราเสียเลือดออกจากร่างกายเกิน 2 ลิตรก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เพราะหน้าที่ของเลือดนั้นสำคัญต่อการดำรงชีวิตมาก นอกจากเลือดจะทำหน้าที่ขนส่งสารอาหาร และแก๊สไปยังเซลล์ และรับเอาของเสียจากเซลล์ไปจำกัดที่อวัยวะต่างๆ แล้ว เลือดยังคอยควบคุมอุณหภูมิหรือความร้อนในร่างกายอีกด้วย หากเราแยกส่วนประกอบของเลือดออกจากกัน เราจะพบว่าเลือดประกอบไปด้วยของเหลวและของแข็ง ได้แก่ น้ำเลือด เม็ดเลือด และเกล็ดเลือด
น้ำเลือดหรือพลาสมา (Plasma)
เป็นส่วนประกอบหลักของเลือด คิดเป็น 55% ของเลือดทั้งหมด น้ำเลือดมีสีน้ำตาลอ่อนถึงเหลืองใส มีสถานะเป็นของเหลวซึ่งประกอบไปด้วย น้ำ 91% สารอาหารต่างๆ 7% และแก๊สละลายในน้ำอีก 2% น้ำเลือดเป็นตัวลำเลียงสารอาหารต่างๆ เข้าสู่เซลล์และรับของเสียอย่างยูเรียไปจำกัดทิ้ง
เม็ดเลือด
มี 2 ชนิดคือ เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว
- เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cells, Erythrocytes) เป็นส่วนของแข็งในเลือด มีมากเป็นอันดับสองรองจากน้ำเลือด คือราว 40-45% ของเลือดทั้งหมด ถูกสร้างจากไขกระดูกเป็นหลัก มีอายุราว 120 วัน ขนาดประมาณ 7 ไมครอน รูปร่างกลมแบนเว้าตรงกลางเป็นแอ่งคล้ายโดนัท แต่ไม่เป็นรู มีหน้าที่ขนส่งแก๊สออกซิเจนไปให้เซลล์ และรับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาระบายทิ้งที่ถุงลมในปอด เม็ดเลือดแดงประกอบด้วยโปรตีนฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบจึงมีสีแดง โดยสีเม็ดเลือดจะแดงสดถ้าจับกับออกซิเจน และจะเปลี่ยนเป็นแดงคล้ำเมื่อปล่อยออกซิเจนออกไป
- เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells, Leucocytes) เป็นส่วนของแข็งในเลือด มีอายุไม่เกิน 14 วัน ขนาดใหญ่กว่าเม็ดเลือดแดงเล็กน้อย มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
เกล็ดเลือด (Platelets)
เป็นของแข็งในเลือดเช่นกัน เกล็ดเลือดเป็นเศษชิ้นส่วนของเซลล์ ถูกสร้างจากไขกระดูก มีอายุราว 7 วัน หน้าที่ของเกล็ดเลือดคือ การช่วยให้เลือดแข็งตัวอุดบาดแผลเมื่อหลอดเลือดเกิดการฉีกขาด ทำให้เลือดหยุดไหลออกจากหลอดเลือด
เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย