ระบบหมุนเวียนโลหิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 71.2K views



ร่างกายของเราต้องการสารอาหารและพลังงานอยู่ตลอดเวลา การป้อนสารอาหารและออกซิเจนเข้าสู่แต่ละเซลล์ในร่างกายนั้น ทำได้โดยอาศัยระบบหมุนเวียนโลหิต (Circulatory System) ซึ่งมีอวัยวะที่สำคัญคือ หัวใจ ปอดและหลอดเลือดต่าง ๆ ทั้งหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ หลอดเลือดฝอย​

ภาพ : shutterstock.com


หลอดเลือดของเราจะแตกแขนงออกจากหลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นหลอดเลือดแดงขนาดเล็กลง กระจายไปทั่วร่างกาย เป็นเส้นทางให้เลือดพาสารอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ผ่านทางหลอดเลือดแดงฝอย ซึ่งมีผนังหลอดเลือดบางมากจนสารอาหาร และออกซิเจนแพร่เข้าสู่เซลล์ได้ จากนั้นจึงรับเอาของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์กลับเข้าสู่หลอดเลือดดำฝอย ทำให้เลือดกลายเป็นเลือดดำไหลกลับไปยังหลอดเลือดดำที่ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่หัวใจและปอดเพื่อฟอกเลือดดำให้กลับมาเป็นเลือดแดง จากนั้นจึงไหลกลับเข้าหัวใจ เพื่อส่งต่อไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่ต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

ภาพ : shutterstock.com


ระบบหมุนเวียนโลหิตของมนุษย์จะเชื่อมต่อกันเป็นวงจรปิด คือเลือดจะไหลเวียนภายในหลอดเลือดและหัวใจเสมอ ไม่ไหลออกไปสู่ช่องว่างในลำตัว เลือดหมุนเวียนไปตามหลอดเลือด โดยมีกล้ามเนื้อหัวใจเป็นตัวสูบฉีด ซึ่งหัวใจจะแบ่งเป็น 4 ห้อง โดยระหว่างห้องด้านบนและห้องด้านล่างของหัวใจ จะมีลิ้นหัวใจกั้นอยู่ ทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ


เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจหดตัว เลือดจะไหลออกจากหัวใจทางหลอดเลือดแดง และเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัว เลือดก็จะไหลเข้าสู่หัวใจทางหลอดเลือดดำ ดังนั้น เมื่อหัวใจเต้น เลือดจึงไหลในหลอดเลือดไปทางเดียวเสมอไม่ไหลย้อนกลับ หลักการทำงานของหัวใจทั้ง 4 ห้อง เป็นดังนี้

ภาพ : shutterstock.com


1. หัวใจห้องบนขวา (Right Atrium) ทำหน้าที่รับเลือดดำที่ส่งมาจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แล้วส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างขวา​
2. หัวใจห้องล่างขวา (Right Ventricle) ทำหน้าที่ส่งเลือดดำไปยังปอดทั้งสองข้างเพื่อฟอกเลือด
3. หัวใจห้องบนซ้าย (Left Atrium) ทำหน้าที่รับเลือดแดงจากปอดทั้งสองข้าง แล้วส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างซ้าย
4. หัวใจห้องล่างซ้าย (Left Ventricle) ทำหน้าที่ส่งเลือดแดงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ปอดเป็นอวัยวะที่สามารถฟอกเลือดได้โดยการแลกเปลี่ยนแก๊สกับเม็ดเลือด เมื่อเลือดดำขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปและรับออกซิเจนเข้ามา เลือดก็จะกลับมามีสีแดงสด

ภาพ : shutterstock.com


นอกจากหัวใจและปอดจะสำคัญแล้ว หลอดเลือดต่าง ๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เราแบ่งประเภทหลอดเลือดได้ดังนี้

1. หลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจ (Artery)
นิยมเรียกกันว่า หลอดเลือดแดง เพราะเกือบทั้งหมดเป็นหลอดเลือดที่เลือดแดง หรือเลือดที่มีออกซิเจนไหลผ่าน แต่ยกเว้นหลอดเลือดที่ต่อออกจากหัวใจห้องขวาล่าง (Pulmonary Artery) ซึ่งจะนำเลือดดำไปสู่ปอด ดังนั้น เรียกว่าหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจจะถูกต้องตรงกับคำว่า "อาร์เทอรี" มากกว่า หลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจ จะมีผนังหลอดเลือดที่หนาและยืดหยุ่น เพราะต้องทนต่อแรงดันเลือดที่ส่งมาจากการเต้นของหัวใจ

ภาพ : shutterstock.com


2. หลอดเลือดที่นำเลือดเข้าสู่หัวใจ (Vein)
นิยมเรียกกันว่า หลอดเลือดดำ เพราะเกือบทั้งหมดเป็นหลอดเลือดที่เลือดดำหรือเลือดที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ไหลผ่าน แต่ยกเว้นหลอดเลือดที่ต่อออกจากปอดไปยังหัวใจห้องซ้ายบน (Pulmonary Vein) ซึ่งจะนำเลือดแดงเข้าสู่หัวใจ ดังนั้น เรียกว่าหลอดเลือดที่นำเลือดเข้าสู่หัวใจจะถูกต้องตรงกับคำว่า "เวน" มากกว่า หลอดเลือดที่นำเลือดเข้าสู่หัวใจจะมีผนังหลอดเลือดที่บางกว่าอาร์เทอรี แต่มีลิ้นในหลอดเลือดคอยกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ เพราะแรงดันเลือดในหลอดเลือดเวนมีน้อยกว่าในหลอดเลือดอาร์เทอรี

ภาพ : shutterstock.com


3. หลอดเลือดฝอย (Capillary)
เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กมาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวเพียง 7 ไมโครเมตร เชื่อมต่อกันเป็นร่างแหทั้งหลอดเลือดแดงฝอยและหลอดเลือดดำฝอย ความบางของผนังหลอดเลือดทำให้เลือดสามารถแลกเปลี่ยนแก๊ส และสารอาหารกับเซลล์ได้ หลอดเลือดฝอยคือร่างแหที่ถือเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอาร์เทอรีและเวน เพราะเมื่อเลือดแดงแลกเปลี่ยนสารอาหารและแก๊สกับเซลล์ที่ตำแหน่งนี้แล้ว ก็จะกลายเป็นเลือดดำและเคลื่อนตัวต่อไป

ภาพ : shutterstock.com


การบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจมีจังหวะ ทำให้เลือดที่วิ่งออกจากหัวใจวิ่งเป็นจังหวะด้วย และเลือดที่วิ่งออกมาจากหัวใจจะมีแรงดันสูงมาก แรงดันเลือดทำให้หลอดเลือดขยายตัวเป็นจังหวะเรียกว่า "ชีพจร" (Pulse) เราจึงสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ จากการจับชีพจรตามตำแหน่งหลอดเลือดอาร์เทอรีที่ข้อพับอย่าง ลำคอ ข้อศอกด้านใน และข้อมือ ส่วนในหลอดเลือดเวน แรงดันเลือดจะมีไม่มากเท่าอาร์เทอรี เพราะอยู่ห่างจากแรงส่งของหัวใจมาก

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย