อาหารที่เรารับประทานเข้าไป จะเปลี่ยนเป็นพลังงานให้ร่างกายนำไปใช้ โปรตีนที่ร่างกายได้รับจะถูกนำไปสร้างเป็นเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หรือประมาณอายุ 20 ปี ร่างกายจะมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะสังเกตได้จาก ส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น แขนขาที่ยาวขึ้น ลำตัวที่หนาและกว้างขึ้นและศีรษะที่โตขึ้น
เราแบ่งช่วงอายุของคนตามการเจริญเติบโตของร่างกายออกเป็น 5 ช่วงอายุได้ดังนี้
1. ช่วงวัยเด็ก (ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 12 ปี)
ช่วงวัยนี้เด็กจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ต้องได้รับโภชนาการที่ดี กินอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง เพื่อใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะโตไวไล่เลี่ยกันจนถึงอายุ 10 ปี เด็กผู้หญิงจะสูงขึ้นไวกว่าเด็กผู้ชายจนถึงอายุ 12 ปี
2. ช่วงวัยรุ่น (อายุตั้งแต่ 13 ถึง 19 ปี)
พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กผู้ชายจะโตไวกว่าเด็กผู้หญิง ทั้งสองเพศจะเริ่มมีพัฒนาการทางเพศของตัวเอง เด็กผู้ชายเริ่มมีหนวดเครางอก เสียงเริ่มห้าว เด็กผู้หญิงเริ่มมีหน้าอก เอวเริ่มคอด สะโพกเริ่มผายและเริ่มมีระดู หลังอายุ 15 ปีเด็กผู้หญิงจะเริ่มหยุดสูง ส่วนเด็กผู้ชายยังสูงขึ้นได้จนโตเป็นผู้ใหญ่
3. ช่วงวัยหนุ่มสาว (อายุตั้งแต่ 20 ถึง 39 ปี)
เมื่ออายุถึง 20 ปี ร่างกายถือว่าโตเต็มวัยแล้ว กล้ามเนื้อแข็งแรง อวัยวะทุกส่วนทำงานได้อย่างสมบูรณ์
4. ช่วงวัยกลางคน (อายุตั้งแต่ 40 ถึง 59 ปี)
พอเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เริ่มเสื่อมถอยลง ผิวหนังเริ่มมีรอยเหี่ยวย่น เส้นผมเริ่มหงอก
5. ช่วงวัยชรา (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป)
ช่วงวัยชรา ร่างกายจะทรุดโทรมลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดูกเริ่มพรุน ความสามารถในการมองเห็นและการได้ยินลดน้อยถอยลง ระบบการทำงานของอวัยวะภายในเริ่มมีปัญหา ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย
เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย