หลักโภชนาการคือหลักการในการบริโภคอาหาร โดยเราควรบริโภคอาหารที่หลากหลายเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ในปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยเกินไปในแต่ละวัน เพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และความมีสุขภาพที่ดี
การกินอาหารที่หลากหลายคือการกินอาหารได้ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งสัดส่วนของอาหารทั้ง 5 หมู่ที่ได้รับการแนะนำให้บริโภคในแต่ละวันดูได้จาก "พีระมิดโภชนาการ"
จากแผนภาพพีระมิดโภชนาการ เราจะเห็นได้ว่า ถ้าแบ่งอาหารในแต่ละวันออกเป็น 10 ส่วน เราควรบริโภคอาหารจำพวกแป้งหรือข้าวเป็นหลักราว 4 ส่วน เพื่อให้ได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่พอเพียงในแต่ละวัน และอาหารประเภทผักและผลไม้อีก 3 ส่วน เพื่อให้ได้รับวิตามิน แร่ธาตุและกากใยอาหารอย่างพอเพียง ต่อมาเป็นอาหารจำพวกเนื้อนมไข่อีก 2 ส่วน เพื่อให้ได้โปรตีนเพียงพอแก่การเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สุดท้ายคือพวกไขมัน น้ำตาล ขนมหวานและเครื่องปรุงรสอย่างเช่นเกลือ ควรบริโภคแต่น้อยเพียง 1 ส่วนเท่านั้น
หลักโภชนาการจากภาพพีระมิดโภชนาการ ไทยเรานำมากลับหัวเป็นธงโภชนาการ แต่หลักการยังเหมือนเดิม โดยสามารถสรุปเป็น "โภชนบัญญัติ 9 ประการ" ได้ดังนี้
1. กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย
2. กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับอาหารประเภทแป้งอื่น ๆ เป็นบางมื้อ
3. กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ
4. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ
5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
6. กินอาหารที่มีไขมันและน้ำมันแต่พอควร
7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสหวานจัดและเค็มจัด
8. กินอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน
9. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเกี่ยวกับโภชนาการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ จากงานวิจัยที่ก้าวหน้ามากขึ้น ในปัจจุบันพบว่าปัญหาของภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน รวมทั้งโรคเบาหวาน มีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารจำพวกแป้งมากเกินไป และแป้งสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและไขมันในร่างกายได้
ดังนั้นแนวคิดในการกำหนดสัดส่วนอาหารจึงเปลี่ยนไปในทางลดอาหารจำพวกแป้งลง และรับประทานผักผลไม้สดมากขึ้น ส่วนการบริโภคไขมันเล็กน้อย ก็เปลี่ยนเป็นไม่บริโภคไขมันโดยตรง แต่บริโภคอาหารที่มีไขมันดีสูงแทนเช่น ไข่ ปลาแซลมอน ถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด งดน้ำตาลแปรรูป เพราะเราจะได้น้ำตาลจากอาหารทั่วไปอยู่แล้ว โดยเฉพาะผลไม้สด
สัดส่วนของหลักโภชนาการแนวคิดใหม่คือ ผักสดและผลไม้ 2 ส่วน : แป้ง (คาร์โบไฮเดรต) 1 ส่วน : เนื้อ นมและไข่ (โปรตีน) 1 ส่วน
เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย