Conditional Sentences หรือ If clause (ประโยคเงื่อนไข) ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นเงื่อนไข กับส่วนที่เป็นผลของเงื่อนไข โดยทั้งสองส่วนจะถูกกั้นกลางด้วย comma “,” สามารถแบ่งหลัก ๆ ได้ 4 รูปแบบ ดังนี้
If-Clause แบบที่ 1 : If clause ที่พูดถึงความจริง หรือความเป็นจริง
แบบที่ 1 นี้ถือว่าเป็น If clause แบบพิเศษ คือพูดถึงความเป็นจริง ไม่ได้เน้นในแง่ของเงื่อนไขมากนัก ในขณะที่อีกสามแบบที่เหลือจะเน้นในความเป็นเงื่อนไขและผลของเงื่อนไขมากกว่า
รูปของ If clause รูปแบบที่ 1 - If + Present Simple, Present Simple
Ex. If we heat water, it boils.
(ถ้าเราต้มน้ำ น้ำจะเดือด)
**ซึ่งเป็นความจริง
Ex. If X equals 7+23 , 30 equals X.
(ถ้า X เท่ากับ 7+23 แล้ว 30 มีค่าเท่ากับ X)
**อันนี้เป็นประโยคสมการทางคณิตศาสตร์ เราพบว่าหากเราบวกเลขแล้ว X มีค่าเท่ากับ 30 ซึ่งเป็นความจริง
Ex. If you kill somebody, you go to prison.
(ถ้าคุณฆ่าคน คุณต้องติดคุก)
**อันนี้กล่าวถึงความเป็นจริงในแง่ของกฎหมายในแง่ที่ว่าคุณทำผิดต้องโดนลงโทษ
If-Clause รูปแบบที่ 2 : บอกถึงเหตุการณ์เงื่อนไขในปัจจุบันและผลกระทบของเงื่อนไขนั้น หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากเงื่อนไขนั้น
If clause รูปแบบที่ 2 จะเน้นที่เงื่อนไข และผลของเงื่อนไขนั้น ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยบอกว่า หากมีการทำกิจกรรมหรือว่าเกิดเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ขึ้น แล้วจะเกิดผลของกิจกรรมหรือว่าผลของเหตุการณ์นั้นตามมา
รูปของ If clause รูปแบบที่ 2 : If + Present Simple, Subject + will + V1 (+ Object)
If + Present Simple, จะเป็นส่วนที่บอกถึงกิจกรรมหรือว่าเหตุการณ์
Subject + will + V1 (+Object) จะเป็นส่วนที่บอกถึงผลของเหตุการณ์นั้นๆ
Ex If we do not leave our house now, we will be late for school.
(ถ้าเราไม่ออกจากบ้านเดี๋ยวนี้ เราจะไปโรงเรียนสาย)
**จะเห็นได้ว่า ในส่วนแรกบอกถึงเงื่อนไขว่าถ้าไม่ออกจากบ้าน ในขณะที่ส่วนที่ตามมาหลัง comma คือส่วนที่บอกผลกระทบหรือว่าผลของเหตุการณ์ว่าเราจะไปโรงเรียนสาย
Ex. If you do not study, you will fail the exam.
(ถ้าเธอไม่อ่านหนังสือ เธอจะสอบตก)
**เราสามารถเห็นได้ชัดถึงเงื่อนไขในส่วนที่ตามหลัง If ว่าหากไม่อ่านหนังสือ และผลกระทบซึ่งบอกในส่วนที่ตามหลัง comma ว่าเราจะสอบตก
ในบางครั้งเราสามารถสลับนำส่วนของผลกระทบมาขึ้นประโยคก่อนได้แล้วตามด้วยเหตุของผลกระทบนั้น เช่น
I will not go to the market if it is too warm.
(ฉันจะไม่ไปตลาด ถ้าอากาศร้อนเกินไป)
**จะเห็นได้ว่าแม้ว่าเราจะเอาผลของเหตุการณ์ขึ้นก่อน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนความหมาย ประโยคยังคงมีความหมายเหมือน If it is too warm, I will not go to the market.
แต่มีข้อสังเกตว่า หากเราขึ้นประโยคผลลัพธ์ก่อนแล้วตามด้วย If นั้น เราไม่จำเป็นต้องมี comma เพื่อขั้น If เช่น
If you work hard, you will succeed. กับ You will succeed if you work hard.
ต่างก็มีความหมายเหมือนกันว่าหากคุณพยายามคุณจะประสบความสำเร็จแต่ว่าประโยคที่สองนั้นไม่มีเครื่องหมาย comma
If-Clause รูปแบบที่ 3 : พูดถึง สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน หรือว่าเป็นสถานการณ์สมมุติ และยังสามารถนำไปใช้เพื่อขอร้องเชิงสุภาพได้ด้วย
รูปของ If-Clause รูปแบบที่ 3 : If + Past Simple, Subject + would + V1 (+Object)
การใช้งาน If-Clause รูปแบบที่ 3 จะใช้ใน 2 สถานการณ์ต่อไปนี้
สถานการณ์ที่ 1: สิ่งที่ไม่เป็นความจริง สิ่งที่ไม่ได้เกิดในปัจจุบัน หรือว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน เช่น
If I won a big lottery, I would travel the world.
(ถ้าฉันถูกรางวัลสลากกินแบ่ง ฉันจะไปเที่ยวรอบโลก)
กรณีนี้ รูปแบบประโยคแสดงให้เห็นว่าฉันไม่ได้ถูกรางวัลและไม่ได้ไปเที่ยวรอบโลก ซึ่งแสดงว่าประโยคกำลังพูดถึงสิ่งที่ไม่เป็นความจริง
If I went to bed now. I would not be able to sleep.
(ถ้าฉันนอนตอนนี้ ฉันคงนอนไม่หลับ)
กรณีพูดถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน นั้นคือไม่สามารถนอนได้ในเวลานี้
If I were you, I would leave my job.
(ถ้าฉันเป็นเธอฉันจะลาออกจากงาน)
อันนี้พูดถึงในกรณีของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเนื่องจากฉันไม่ใช่เธอ ฉันจึงไม่ได้ลาออกจากงาน
If he told me that he loves me, I would marry him.
(ถ้าเขาบอกว่าเขารักฉัน ฉันจะแต่งงานกับเค้า)
กรณีนี้แปลว่าในความเป็นจริงเขาไม่ได้บอกรักฉัน หรือไม่ได้บอกว่ารักฉัน จึงไม่มีการแต่งงานขึ้น
สถานการณ์ที่ 2 : ใช้ในการขอร้องเชิงสุภาพ เช่น
If you signed this document, I would appreciate it.
(หากคุณช่วยเซ็นเอกสาร ฉันจะขอบคุณมากๆ)
It would be great if you could help with the project.
(มันจะเยี่ยมมากถ้าคุณสามารถมาช่วยงานนี้ได้)
จะเห็นได้ว่าเราสามารถเปลี่ยนเอาประโยคมาอยู่ข้างหน้า if ได้ โดยไม่ต้องใส่ comma และบางครั้งก็สามารถอยู่ในรูปของคำถามได้ เช่น
Would you mind if I used your phone?
(จะรังเกียจไหมถ้าจะขอยืมใช้โทรศัพท์) / (จะรบกวนไหมถ้าจะขอยืมใช้โทรศัพท์)
Would you mind if I borrowed your bike?
(จะรังเกียจไหมถ้าจะขอยืมรถจักรยาน) / (จะรบกวนไหมถ้าจะขอยืมรถจักรยาน)
If-Clause รูปแบบที่ 4 : พูดถึงเหตุการณ์ในอดีต มักพูดถึงเหตุการณ์อาจจะเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้น
เป็นการพยายามบอกว่า ถ้าเงื่อนไขในอดีตเปลี่ยนแปลงไป อาจจะเกิดเหตุการณ์อื่นขึ้นเนื่องจากเงื่อนไขนั้น แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้น
รูปของ If-Clause รูปแบบที่ 4 : If + Subject + had + V3 (+Object), Subject + would/could have + V3 (+Object)
ส่วนใหญ่ประโยคจะบอกว่า สมมุติว่าถ้ารู้ หรือว่าสมมุติว่าถ้าทำเหตุการณ์บางอย่างในอดีต น่าจะมีเหตุการณ์ที่เป็นผลเกิดขึ้นในอดีตด้วย เช่น
If I had known you were sick, I would have gone to see you.
(ถ้าฉันรู้ว่าเธอป่วยฉันคงจะไปหาเธอแล้ว)
จะเห็นได้ว่าประโยคบอกว่าถ้าในอดีตรู้ว่าเธอป่วย ฉันคงไปหาเธอในอดีตแล้ว นั่นแปลว่าอดีตเราไม่รู้ว่าเธอป่วย และในความจริงนั้นเราไม่ได้ไปหาเธอในอดีต ดังนั้นประโยคนี้เป็นการพูดถึงเหตุการณ์สมมติในอดีต
If I had seen you, I would have said hello.
(ถ้าฉันเห็นเธอ ฉันคงจะทักเธอไปแล้ว)
หมายความว่าในความเป็นจริงฉันมองไม่เห็นเธอ และฉันไม่ได้ทักเธอ ประโยคบอกแค่เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอดีต
If I had known the drive is 3 hours long, I would have used the restroom before we left.
(ถ้าฉันรู้ว่าต้องนั่งรถนาน 3 ชั่วโมง ฉันคงจะเข้าห้องน้ำก่อนที่เราจะที่เราจะออกมา)
หมายความว่าในความเป็นจริง ฉันไม่รู้ว่าต้องนั่งรถสามชั่วโมง เลยไม่ได้เข้าห้องน้ำก่อนจะออกมา ประโยคบอกถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอดีตแต่ว่าไม่ได้เกิดขึ้น
I could have dropped you off if I had known we were heading the same way.
(ถ้าฉันรู้ว่าเราไปทางเดียวกันฉันคงได้ไปส่งเธอแล้ว)
หมายความว่าเนื่องจากไม่รู้ว่าไปทางเดียวกัน เลยไม่ได้ไปส่งที่บ้าน ประโยคบอกแค่ความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดในอดีตแต่ว่าไม่ได้เกิด
แหล่งอ้างอิง
Murphy, Reymond. English Grammar in use. 4th ed. Cambridge University Press. 2012.
Murphy, Reymond. English Grammar in use. 4th ed. Cambridge University Press. 2012. ไวยากรณ์อังกฤษฉบับสมบูรณ์. I get English Publishing. พ.ศ. 2558