ดาวเหนือและกลุ่มดาวจักรราศี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 29K views



ดาวเหนือ

ภาพ : shutterstock.com

เมื่อมองดูแผนที่ดวงดาวหรือแผนที่ท้องฟ้าซีกโลกเหนือ จะเห็นได้ว่า มีกลุ่มดาว 7 ดวงที่เรียงกันเป็นรูปกระบวยตักน้ำ 2 กลุ่ม คือดาวกระบวยใหญ่ และดาวกระบวยเล็ก (ดาวหมีใหญ่และดาวหมีเล็ก) อยู่บริเวณกึ่งกลางท้องฟ้า โดยดาวดวงที่เป็นปลายกระบวยของกลุ่มดาวกระบวยเล็กจะอยู่ที่จุดศูนย์กลางท้องฟ้า เมื่อเราหมุนแผนที่ ดาวดวงนี้ก็จะอยู่ที่ตำแหน่งเดิมคือศูนย์กลางเสมอ ดาวนี้เรียกว่าดาวเหนือ (Polaris Star, North Star, Pole Star) เป็นดาวที่นักเดินทางใช้สังเกตทิศทางในยามค่ำคืนมาตั้งแต่โบราณ ตำแหน่งกึ่งกลางท้องฟ้าซีกโลกเหนือนี้ เมื่อเรายืนมองจากพื้นโลกจะเห็นได้ว่าอยู่ทางทิศเหนือ แกนโลกจากขั้วโลกเหนือจะชี้ไปที่ตำแหน่งนี้ ทำให้ดาวเหนือแทบจะไม่เคลื่อนที่เพราะตรงกับแกนหมุนของโลก ดังนั้น เมื่อเห็นดาวเหนือ ก็จะรู้ได้ว่าทิศนั้นเป็นทิศเหนือนั่นเอง

ภาพ : shutterstock.com

ตำแหน่งกึ่งกลางท้องฟ้าที่ไม่เคลื่อนที่นั้น ไม่ว่าจะอยู่แถบซีกโลกไหนก็จะสังเกตเห็นได้เพียงจุดเดียว สมมติว่าเราอยู่ทางซีกโลกเหนือ เราจะเห็นเพียงดาวเหนือทางทิศเหนือที่อยู่นิ่ง ส่วนดวงดาวบนท้องฟ้าทางทิศใต้นั้นจะเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว เพราะดวงดาวที่เราเห็นว่าอยู่ทางทิศใต้นั้น แท้จริงแล้ว อยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ส่วนดวงดาวที่อยู่บนท้องฟ้าทางซีกโลกใต้จริง ๆ เราไม่สามารถมองเห็นได้

ภาพ : shutterstock.com

อย่างไรก็ตาม หากเราอยู่แถบซีกโลกใต้ เราก็จะมองไม่เห็นดาวเหนือ เพราะตำแหน่งของดาวเหนือจะอยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้าที่เราเห็น และจะเห็นได้ว่า แผนที่ดวงดาวซีกโลกใต้นั้นไม่มีดวงดาวที่พอสังเกตได้อยู่บริเวณกึ่งกลางท้องฟ้าเหมือนกับทางซีกโลกเหนือ การเดินทางในแถบซีกโลกใต้จึงไม่มีดวงดาวสำหรับนำทาง

ภาพ : shutterstock.com

 

กลุ่มดาวจักรราศี

ภาพ : shutterstock.com

กลุ่มดาวที่อยู่บนแถบเส้นศูนย์สูตรนั้น เป็นกลุ่มดาวจักรราศี 12 กลุ่มดาว เรียงต่อกันเป็นวง มีชื่อต่างๆ ดังนี้ เมษ (Aries) พฤษภ (Taurus) เมถุน (Gemini) กรกฎ (Cancer) สิงห์ (Leo) กันย์ (Virgo) ตุลย์ (Libra) พิจิก (Scorpio) ธนู (Sagittarius) มกร (Capricorn) กุมภ์ (Aquarius) มีน (Pisces)

เพราะโลกหมุนรอบตัวเอง เราจะสังเกตเห็นกลุ่มดาวจักรราศีขึ้นและตกแบบเดียวกันกับดวงอาทิตย์ เพียงแต่จะสังเกตเห็นกลุ่มดาวได้เฉพาะตอนที่ไม่มีแสงอาทิตย์กลบเท่านั้น ถ้าตำแหน่งของดวงอาทิตย์ไปทับกับกลุ่มดาวใด เราก็จะไม่เห็นกลุ่มดาวนั้นๆ เพราะกลุ่มดาวนั้นจะขึ้นและตกเกือบจะพร้อม ๆ กับดวงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวันนั่นเอง ซึ่งการที่ดวงอาทิตย์ทับกลุ่มดาวราศีใดก็จะกำหนดว่าช่วงเดือนนี้เป็นราศีนั้น

แต่เนื่องจากโลกมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ตำแหน่งของโลกจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เราจะมองเห็นกลุ่มดาวจักรราศีที่อยู่หลังดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจากการบดบังของดวงอาทิตย์เสมอ เมื่อมองจากบนพื้นโลกที่กำลังหมุนรอบตัวเอง เราจึงเห็นกลุ่มดาวจักรราศีเคลื่อนที่ไวกว่าดวงอาทิตย์

ถ้าแบ่งทรงกลมท้องฟ้าออกเป็น 360 องศา 12 กลุ่มดาวจักรราศีจะมีมุมกว้างราศีละ 30 องศา ในหนึ่งวัน กลุ่มดาวจักรราศีจะเดินไวกว่าดวงอาทิตย์ 1 องศา เมื่อครบ 30 วัน หรือ 1 เดือน กลุ่มดาวหนึ่ง ๆ ก็จะเดินพ้นออกจากตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ซึ่งเท่ากับว่าดวงอาทิตย์ย้ายเข้าราศีใหม่นั่นเอง

เมื่อเรามองเห็นกลุ่มดาวจักรราศีเดินไวกว่าดวงอาทิตย์ การเปลี่ยนราศีของดวงอาทิตย์จึงเป็นการเคลื่อนจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก การเรียงกลุ่มดาวจักรราศีจึงต้องเรียงจากตะวันตกไปตะวันออกเช่นกัน