โลกที่เราอาศัยอยู่ เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีสัณฐานเป็นทรงกลม โลกลอยอยู่ในอวกาศโดยหมุนรอบตัวเองตลอดเวลา ด้วยแรงเหวี่ยงที่เกิดจากการหมุนทำให้ทรงกลมของโลกค่อนข้างแป้นเหมือนผลส้ม และนอกจากจะหมุนรอบตัวเองแล้ว โลกก็ยังโคจรหรือหมุนรอบดวงอาทิตย์อีกด้วย จากปัจจัยทั้งสองนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นมากมาย เช่น การเกิดกลางวันและกลางคืน การขึ้นและตกของดวงดาวต่าง ๆ และการเกิดทิศ เป็นต้น
ทรงกลมของโลก เมื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะมีด้านหนึ่งที่ได้รับแสงอาทิตย์ และอีกด้านที่มืดมิด เมื่อโลกหมุนรอบตัวเองจะทำให้ด้านที่อยู่ในเงามืดค่อย ๆ หันมาโดนแสงแดดในขณะเดียวกันกับที่ด้านตรงข้ามจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสว่างมาอยู่ในเงามืดแทน จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืน
โลกหมุนรอบตัวเองครบหนึ่งรอบ นับเป็นเวลา 1 วัน หรือประมาณ 24 ชั่วโมง แบ่งเป็นกลางวันและกลางคืนอย่างละครึ่ง โดยในฤดูร้อน กลางวันจะกินเวลานานกว่า และในฤดูหนาวกลางคืนจะมีเวลายาวนานกว่า
เมื่อเรายืนอยู่บนผิวโลกที่กำลังหมุนรอบตัวเอง เราจะเห็นดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นจากเส้นขอบฟ้า และลอยข้ามศีรษะเราไปจนหายลับไปกับเส้นขอบฟ้าฝั่งตรงกันข้าม เกิดเป็นอาทิตย์ขึ้นและอาทิตย์ตก และในช่วงหลังจากอาทิตย์ลับของฟ้าไปแล้ว ท้องฟ้าก็จะมืดลง ทำให้เรามองเห็นดวงดาวต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งดวงจันทร์ เคลื่อนที่ไปจนลับขอบฟ้าเช่นเดียวกัน ซึ่งที่จริงแล้ว ดวงจันทร์และดวงดาวต่าง ๆ อาจส่องแสงอยู่บนท้องฟ้าตลอดเวลา แต่เราไม่อาจมองเห็นได้ในเวลากลางวันเพราะแสงจากดวงอาทิตย์ที่สว่างมาก ๆ บดบังไว้
โลกหมุนรอบตัวเองตามแกนขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ หากมองจากด้านขั้วโลกเหนือ จะเห็นว่าโลกหมุนรอบตัวเองแบบทวนเข็มนาฬิกา หากเรายืนสำรวจอยู่บนผิวโลก จะเห็นดวงอาทิตย์โผล่พ้นจากเส้นขอบฟ้าฝั่งหนึ่งเสมอ เราจึงกำหนดให้ด้านนั้นเป็นทิศตะวันออก ส่วนด้านตรงข้ามที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปเป็นทิศตะวันตก เท่ากับว่าโลกหมุนจากทิศตะวันตกไปหาทิศตะวันออกนั่นเอง และถ้าเรายืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แล้วกางแขนขึ้นทั้งสองข้าง ทางด้านซ้ายมือของเราที่ชี้ไปทางขั้วโลกเหนือจะเป็นทิศเหนือ ส่วนฝั่งตรงข้ามทางขวามือของเราที่ชี้ไปทางขั้วโลกใต้ก็จะเป็นทิศใต้
จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย