สารในชีวิตประจำวันนอกจากสารที่เกี่ยวข้องกับอาหารแล้ว เราก็ยังต้องพบเจอกับสารที่ใช้ในการทำความสะอาดอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยสารทำความสะอาดแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ สารทำความสะอาดร่างกาย สารทำความสะอาดภาชนะ สารทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่ม และสารทำความสะอาดที่อยู่อาศัย โดยหลักการส่วนใหญ่ของสารทำความสะอาดก็คือ การทำให้คราบสกปรกที่เป็นไขมัน หรือน้ำมัน แตกตัวเป็นอณูเล็ก ๆ เพื่อที่จะสามารถละลายในน้ำ และถูกชำระล้างออกไปได้
1. สารทำความสะอาดร่างกาย ได้แก่ ยาสีฟัน โฟมล้างหน้า สบู่หรือครีมอาบน้ำ ยาสระผม ใช้ชำระคราบไขมันที่ติดอยู่ตามผิวหนัง หนังศีรษะ ซึ่งไม่สามารถขจัดออกได้ด้วยน้ำเปล่า
2. สารทำความสะอาดภาชนะ ได้แก่ น้ำยาล้างจาน ใช้ชำระคราบไขมันจากอาหารที่ติดอยู่บนเครื่องครัวต่าง ๆ
3. สารทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า ใช้ชำระคราบสกปรกที่ฝังอยู่ในเนื้อผ้า โดยเฉพาะคราบไขมันจากร่างกายคนที่เกิดจากการสวมใส่
4. สารทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ได้แก่ น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างสุขภัณฑ์
โดยปกติสารทำความสะอาดร่างกาย จะมีความปลอดภัยในการใช้กับร่างกายมากที่สุด โดยเฉพาะยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก เพราะมีโอกาสในการเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายโดยตรง สารทำความสะอาดกลุ่มนี้จึงมักมีความอ่อนโยนต่อร่างกาย ไม่เป็นกรด หรือเบสจัด เหมือนสารทำความสะอาดพื้นหรือห้องน้ำ ที่ต้องใช้กรดรุนแรงเพื่อกัดหินปูนและคราบฝังแน่น
สารที่มีความปลอดภัยรองลงมาคือสารทำความสะอาดภาชนะ เนื่องจากต้องใช้ล้างเครื่องครัวที่สัมผัสกับอาหารโดยตรง สารทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มจะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะต้องจัดการกับคราบฝังแน่นในเนื้อผ้า หากเราใช้สารทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มมาล้างภาชนะแทน อาจเกิดอันตรายในกรณีที่มีการตกค้างของสารทำความสะอาด ส่วนสารทำความสะอาดที่อยู่อาศัยจะมีความรุนแรงมากที่สุด จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
โดยทั่วไป หากความสกปรกหรือคราบที่เกิดขึ้นนั้นสามารถละลายน้ำได้ เพียงใช้แค่น้ำล้างก็สามารถกำจัดความสกปรกเหล่านั้นได้แล้ว แต่หากคราบเหล่านั้นมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ การล้างน้ำจะไม่สามารถชำระล้างสิ่งสกปรกได้ เพราะน้ำกับน้ำมันไม่สามารถละลายเข้าด้วยกันได้ ดังนั้น หลักการในการทำความสะอาดโดยทั่วไปของสารทำความสะอาดก็คือ การทำให้น้ำมันแตกตัวกระจายตัวไปในน้ำได้นั่นเอง คราบสกปรกจึงถูกชำระได้ด้วยน้ำ ซึ่งเราเรียกสารประเภทนี้ว่า ตัวกระทำอิมัลชัน (Emulsifier)
การใช้สารทำความสะอาดมากเกินไปนั้น ไม่เพียงส่งผลเสียต่อร่างกายและที่อยู่อาศัยเท่านั้น เช่นน้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและกัดกร่อนพื้น แต่น้ำทิ้งจากการล้างสารทำความสะอาดยังเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชน ซึ่งขยายไปสู่ปัญหาระดับประเทศและระดับโลกอีกด้วย
จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย