สารเนื้อผสม เป็นสารที่ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนสารละลาย สามารถแยกแยะได้ว่าส่วนไหนเป็นสารใด วิธีแยกสารเนื้อผสมมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับสมบัติของสารแต่ละชนิดในสารเนื้อผสมนั้น เช่น ถ้าเป็นของแข็งก็อาจใช้ตะแกรงร่อน ถ้าเป็นของเหลวก็อาจใช้กระชอนกรอง หรือปล่อยให้แยกชั้นแล้วตักแยก เป็นต้น
1. การแยกสารเนื้อผสมระหว่างของแข็งด้วยกัน
ถ้าสารเนื้อผสมเป็นของแข็งเหมือนกัน เช่น กองถั่วแดงและถั่วเขียว เราสามารถแยกสีของสารที่ต่างกันได้ อาจเพียงแค่ใช้วิธีหยิบออกก็ได้ แต่ถ้าสารเนื้อผสมมีปริมาณมากแต่มีขนาดของสารต่างกันชัดเจน เราสามารถใช้ตะแกรงร่อนสารหนึ่งออกจากอีกสารหนึ่งได้ เช่น เมล็ดถั่วกับเมล็ดข้าว ตะแกรงจะต้องมีช่องที่ใหญ่จนเมล็ดข้าวรอดผ่านไปได้ แต่เล็กกว่าขนาดของเมล็ดถั่ว เมื่อทำการร่อนเมล็ดข้าวก็จะตกลงด้านล่าง เหลือไว้เพียงเมล็ดถั่วบนตะแกรงเท่านั้น
บางครั้งสารเนื้อผสมมีสารที่ขนาดใกล้เคียงกันจนไม่สามารถใช้การร่อนเพื่อแยกได้ เราก็ต้องดูที่สมบัติของสารที่ต่างกันอย่างชัดเจน เช่น ทรายกับผงเหล็ก ผงเหล็กสามารถถูกดูดโดยแม่เหล็กได้ ในขณะที่ทรายไม่ถูกดูด เราก็สามารถใช้แม่เหล็กเป็นตัวคัดแยกผงเหล็กออกจากทรายได้
คุณสมบัติของสารเช่น การละลายน้ำได้ ก็สามารถนำมาเป็นตัวคัดแยกสารเนื้อผสมได้เช่นกัน เช่น พิมเสนกับเกลือ พิมเสนไม่ละลายน้ำแต่ระเหิด เกลือไม่ระเหิดแต่ละลายน้ำ เราอาจเทน้ำลงไปแล้วคนให้เกลือละลาย ก็จะเหลือแต่พิมเสนที่ไม่ละลายน้ำ แล้วเรานำน้ำเกลือไปตั้งไฟเพื่อแยกน้ำออกจากเกลืออีกทีหนึ่ง หรือเราอาจนำพิมเสนกับเกลือใส่ภาชนะแล้วให้ความร้อนเพื่อให้พิมเสนระเหิดไปจนหมด ก็จะเหลือเพียงเกลือในภาชนะเท่านั้น
2. การแยกสารเนื้อผสมระหว่างของแข็งและของเหลว
ในกรณีที่สารเนื้อผสมเป็นของแข็งและของเหลว เราสามารถใช้การกรองด้วยตะแกรงตาถี่ หรือกระดาษกรองที่มีรูเล็กกว่าขนาดของของแข็ง แต่ปล่อยให้ของเหลวผ่านได้ เช่น การกรองกากชาออกจากน้ำชาด้วยกระชอนตาถี่ หรือกรองกากกาแฟออกจากสารละลายน้ำกาแฟด้วยกระดาษฟิลเตอร์ เป็นต้น
ตามชนบทในสมัยก่อน เมื่อตักน้ำจากแม่น้ำลำคลองที่ขุ่นเต็มไปด้วยสารแขวนลอย ชาวบ้านจะใช้สารส้มแกว่งน้ำในโอ่ง ซึ่งเมื่อสารส้มผสมกับน้ำ จะเกิดสารใหม่ที่มีสมบัติดักจับสารแขวนลอยในน้ำ ให้รวมตัวกันเป็นตะกอนขนาดใหญ่จนจมลงที่ก้นโอ่ง น้ำในโอ่งจึงใส นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้แยกของเหลวกับของแข็งเช่นกัน
3. การแยกสารเนื้อผสมระหว่างของเหลวด้วยกัน
โดยทั่วไปเมื่อผสมของเหลวกับของเหลวด้วยกัน มักจะละลายกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าหากกลายเป็นสารเนื้อผสม แสดงว่าของเหลวนั้นไม่เข้ากัน แยกกันอยู่ชัดเจน เช่น น้ำกับน้ำมัน ซึ่งโดยทั่วไปหากของเหลวสองชนิดที่ไม่เข้ากันอยู่ในภาชนะเดียวกัน ก็จะแยกชั้นกันอย่างชัดเจน ของเหลวที่หนาแน่นกว่าจะอยู่ด้านล่าง ของเหลวที่หนาแน่นน้อยกว่าจะลอยอยู่ด้านบน ในกรณีของน้ำกับน้ำมัน น้ำมันมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ น้ำมันจึงลอยอยู่ด้านบน เราก็สามารถใช้ช้อนตักน้ำมันออกจากน้ำได้โดยตรง หรืออาจใช้อุปกรณ์เช่น กรวย ช่วยถ่ายน้ำออกทางด้านล่างจนหมด ก็จะสามารถแยกน้ำออกจากน้ำมันได้
จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย