สารแต่ละชนิดสามารถเป็นได้ทั้ง ของแข็ง (Solid) ของเหลว (Liquid) และแก๊ส (Gas) โดยจะเปลี่ยนจากสถานะหนึ่งไปเป็นอีกสถานะหนึ่ง เช่น น้ำแข็งซึ่งอยู่ในสถานะของแข็งเปลี่ยนเป็นน้ำซึ่งเป็นของเหลว และน้ำเปลี่ยนเป็นไอน้ำซึ่งเป็นสถานะแก๊ส เป็นต้น โดยปัจจัยที่ทำให้สารเปลี่ยนสถานะก็คือพลังงานความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของสารเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสถานะของสารมี 6 รูปแบบ คือ การหลอมเหลว การแข็งตัว การกลายเป็นไอ การควบแน่น การระเหิด และการระเหิดกลับ และทั้งหมดนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ
ของแข็งอย่างเช่น เนย เมื่อเรานำมาตั้งไฟ ไขมันเนยจะได้รับพลังงานความร้อนเข้าไปจนละลายกลายเป็นเนยเหลวทั้งหมด เราเรียกการเปลี่ยนจากของแข็งเป็นของเหลวนี้ว่า การหลอมเหลว (Melting) และเมื่อเรานำเนยไปแช่ตู้เย็น เนยเหลวก็จะคายความร้อนออกมาจนกลายเป็นของแข็งอีกครั้ง เราเรียกกระบวนการที่ของเหลวเปลี่ยนเป็นของแข็งนี้ว่า การแข็งตัว (Freezing)
ของแข็ง => การหลอมเหลว (Melting) => ของเหลว
ของแข็ง <= การแข็งตัว (Freezing) <= ของเหลว
ของเหลวอย่างเช่น น้ำ เมื่อเรานำมาต้ม น้ำจะได้รับพลังงานความร้อนสะสมจนกระทั่งเดือด และเปลี่ยนเป็นไอน้ำในที่สุด เราเรียกการเปลี่ยนจากของเหลวเป็นแก๊สนี้ว่า การกลายเป็นไอ (Evaporation) และเมื่อเรานำวัตถุที่เย็นมาสัมผัสกับไอน้ำ ไอน้ำก็จะถ่ายเทพลังงานไปยังวัตถุนั้นจนไอน้ำเย็นตัวลงและกลายเป็นน้ำอีกครั้ง เราเรียกกระบวนการที่แก๊สเปลี่ยนเป็นของเหลวนี้ว่า การควบแน่น (Condensation)
ของเหลว => การกลายเป็นไอ (Evaporation) => แก๊ส
ของเหลว <= การควบแน่น (Condensation) <= แก๊ส
ของแข็งอย่างเช่น การบูร เมื่อเราให้ความร้อนเข้าไป การบูรจะเปลี่ยนเป็นไอการบูรในที่สุด เราเรียกการเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นแก๊สแบบนี้ว่า การระเหิด (Sublimation) และถ้าเราปล่อยให้ไอการบูรเย็นตัวลง ก็จะกลายเป็นเกล็ดการบูรซึ่งเป็นของแข็งเช่นเดิม เราเรียกกระบวนการที่แก๊สเปลี่ยนเป็นของแข็งนี้ว่า การระเหิดกลับ (Deposition)
ของแข็ง => การระเหิด (Sublimation) => แก๊ส
ของแข็ง <= การระเหิดกลับ (Deposition) <= แก๊ส
การได้รับพลังงานความร้อนและการคายพลังงานความร้อน ทำให้สารเปลี่ยนสถานะไป ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสาร โดยที่สมบัติอื่น ๆ ของสารนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย
จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย