สารในสถานะต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น ของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส สามารถผสมเข้ากันได้ กลายเป็นสารเนื้อผสม สารแขวนลอย แต่ถ้ากระจายตัวได้ดีจนเป็นเนื้อเดียวกันก็จะกลายเป็นสารละลาย ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เพราะสมบัติของสารตั้งต้นยังคงเดิม
เมื่อเรานำสารสองชนิดมาผสมกัน ถ้าเนื้อสารทั้งสองชนิดไม่สามารถรวมเข้าด้วยกันได้ หรือมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแยกเป็นคนละเนื้อกัน สมบัติของสารแต่ละส่วนจะต่างกันด้วย เราเรียกสารลักษณะนี้ว่า สารเนื้อผสม ตัวอย่างเช่น น้ำกับทราย น้ำส้มสายชูกับพริก น้ำมันกับเมล็ดงา ปูนกับหิน
สารเนื้อผสมที่มีอนุภาคของของแข็งกระจายตัวอยู่ในของเหลว เช่น ตะกอนดินในน้ำขุ่น หรือของแข็งกระจายตัวอยู่ในแก๊ส เช่น ฝุ่นละอองในอากาศ เราเรียกอนุภาคของแข็งเหล่านี้ว่า สารแขวนลอย
แต่ถ้าผสมสารสองชนิดแล้ว สารหนึ่งสามารถกระจายตัวในเนื้อสารอีกชนิดได้อย่างสม่ำเสมอ รวมเป็นเนื้อเดียวกันตลอด มีสมบัติเดียวกันทุกส่วน เราเรียกการเปลี่ยนแปลงของสารจากการผสมนี้ว่า การละลาย และเรียกสารผสมนี้ว่า สารละลาย ซึ่งประกอบด้วย ตัวละลาย และตัวทำละลาย เช่น ผสมน้ำกับเกลือเข้าด้วยกัน ได้สารละลายคือ น้ำเกลือ โดยน้ำเป็นตัวทำละลาย และเกลือเป็นตัวละลาย ซึ่งน้ำเกลือมีเนื้อเดียว และมีสมบัติเหมือนกันทุกส่วน
ตัวอย่างอื่นเช่น น้ำและน้ำตาล ได้สารละลายน้ำเชื่อม, เหล็กและคาร์บอน เหล็กเป็นตัวทำละลาย คาร์บอนเป็นตัวละลาย ได้สารละลายเหล็กหล่อ, อากาศและน้ำ อากาศเป็นตัวทำละลาย น้ำเป็นตัวละลาย ได้สารละลายเป็นไอน้ำในอากาศ หรือความชื้น
อย่างไรก็ตาม การละลายยังจัดเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนสถานะของสาร เนื่องจากสารเดิมที่อยู่ในสารละลาย รวมทั้งสารเนื้อละลาย ยังคงแสดงสมบัติเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เช่น เหล็กหล่อยังคงนำไฟฟ้า มีความเหนียวของเหล็ก และมีความแข็งของคาร์บอน น้ำเชื่อมยังมีความหวานของน้ำตาลและมีสมบัติของน้ำเช่นเดิม
จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย