สารที่มีสถานะเป็นแก๊ส (Gas) มีสมบัติคือ มีมวล กินที่ มีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลน้อยมาก อนุภาคของแก๊สจึงเคลื่อนที่อย่างอิสระ ทำให้แก๊สแพร่ได้เต็มภาชนะที่บรรจุ ปริมาตรและรูปร่างของแก๊สจึงไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปริมาตรของภาชนะ
แก๊สที่พบได้ในชีวิตประจำวันได้แก่ อากาศ ลมหายใจ แก๊สในลูกโป่งสวรรค์ ไอน้ำ ไอระเหยของน้ำมัน
ถ้าหากเราเติมแก๊สเข้าไปในภาชนะ แก๊สจะแพร่กระจายตัวจนเต็มภาชนะทันที นั่นคือแก๊สจะมีรูปร่างตามภาชนะที่บรรจุ แม้ว่าแก๊สจะกระจายอยู่เต็มภาชนะแล้ว แต่เรายังสามารถเติมแก๊สเพิ่มเข้าไปในภาชนะนั้นได้อีกมากในกรณีที่ภาชนะมีความแข็งแรงสามารถรักษารูปทรง แก๊สที่เพิ่มเข้าไปจะไม่ทำให้ปริมาตรของแก๊สโดยรวมเปลี่ยน แต่จะมีแรงดันภายในภาชนะมากขึ้น ส่วนในกรณีของภาชนะที่มีความยืดหยุ่นเช่นลูกโป่ง แรงดันของแก๊สอาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ภาชนะที่ใส่จะเกิดการขยายตัวส่งผลให้ปริมาตรเพิ่มขึ้นแทน
โมเลกุลของแก๊สมีแรงดึงดูดระหว่างกันน้อยจึงเคลื่อนที่ไปมาอย่างอิสระ ทำให้แก๊สแพร่ได้เร็ว เมื่อเราบรรจุแก๊สสองชนิดในภาชนะเดียวกัน แก๊สจะแพร่กระจายผสมกันอย่างพอดีในทันที รูปร่างและปริมาตรของแก๊สไม่แน่นอน แต่แก๊สในภาชนะหนึ่ง ๆ จะรักษาระยะห่างระหว่างอนุภาคให้เท่ากันเสมอ
สรุปสมบัติเบื้องต้นของแก๊ส
1. มีมวล
2. กินที่ หรือ ต้องการที่อยู่
3. ปริมาตรไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับขนาดภาชนะที่บรรจุ
4. มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ
จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย