ของเหลว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 34.7K views



สารที่มีสถานะเป็นของเหลว (Liquid) มีสมบัติคือ มีมวล กินที่หรือต้องการที่อยู่ มีปริมาตรคงที่เช่นเดียวกับของแข็ง แต่โมเลกุลของของเหลวไม่ได้เรียงตัวชิดติดกัน กล่าวคือ มีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลน้อยกว่าของแข็ง อนุภาคในของเหลวจึงเคลื่อนที่ไปมาตลอดเวลา รูปร่างของของเหลวจึงเปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ

ของเหลวไม่มีรูปร่างที่แน่นอน สามารถไหลและเปลี่ยนรูปร่างไปตามภาชนะที่ใส่ ของเหลวที่พบได้ในชีวิตประจำวันได้แก่ น้ำ น้ำมัน น้ำหวาน น้ำเกลือ ปรอท

โมเลกุลของของเหลวแม้ไม่ได้เรียงตัวชิดติดกัน แต่ก็อยู่ใกล้กันและเคลื่อนที่ตลอดเวลา จึงทำให้ของเหลวเปลี่ยนรูปร่างได้ตลอด ไม่ว่าจะเทของเหลวใส่ภาชนะใด ของเหลวก็จะไหลไปตามผิวของภาชนะนั้นได้เสมอ แต่ของเหลวจะรักษาระดับพื้นผิวด้านบนให้เรียบเสมอกันตามแรงโน้มถ่วงด้วย

แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของของเหลว ทำให้มันรักษารูปร่างเป็นทรงกลมเมื่อไม่ได้อยู่ในภาชนะที่รองรับ

ภาพ : shutterstock.com

ด้วยอนุภาคที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา จึงมีการถ่ายเทพลังงานระหว่างโมเลกุลของของเหลวทุกขณะ บางครั้งโมเลกุลจำนวนหนึ่งจะได้รับพลังงานที่มากพอที่จะเอาชนะแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลในของเหลวนั้น ๆ จนเปลี่ยนสถานะเป็นแก๊สหลุดลอยออกไป ทำให้โมเลกุลของของเหลวลดจำนวนลงช้า ๆ

ของเหลวจะมีปริมาตรคงที่ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอยู่ในภาชนะใดของเหลวก็จะมีปริมาตรคงเดิมเสมอ เราสามารถวัดปริมาตรของของเหลวได้โดยการเทของเหลวลงในภาชนะที่มีระดับปริมาตรแสดงอยู่

สรุปสมบัติเบื้องต้นของของเหลว

1. มีมวล​
2. กินที่ หรือต้องการที่อยู่
3. ปริมาตรคงที่ ไม่ขึ้นอยู่กับขนาดภาชนะที่บรรจุ​
4. มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ โดยผิวด้านบนจะเรียบขนานพื้นโลกเสมอ

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย