ของแข็ง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 16.5K views



สารที่มีสถานะเป็นของแข็ง (Solid) จะมีสมบัติ คือ กินที่หรือต้องการที่อยู่ มีมวลที่รู้ได้จากการชั่ง (หน่วยเป็น “กรัม”) มีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลสูงมาก อนุภาคของของแข็งจึงไม่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ทำให้มีปริมาตรและรูปร่างคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะ

สารที่เป็นของแข็งที่พบเจอในชีวิตประจำวันได้แก่ ก้อนหิน ถ่านไม้ เพชร น้ำแข็ง แท่งเหล็ก ยางไม้ แก้วน้ำ เป็นต้น

ของแข็งจะไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปตามภาชนะที่บรรจุ ถ้าเราใส่ลูกหินลงในขวดแก้ว ลูกหินก็จะคงรูปอย่างเดิม ไม่สัมผัสพื้นผิวด้านในทุกส่วนของขวดแก้วเหมือนของเหลว

ถ้าเราเทน้ำตาลทรายลงในขวดแก้ว มองเผิน ๆ เหมือนน้ำตาลทรายจะมีรูปร่างตามขวดแก้ว แต่ถ้ามองใกล ้ๆ เราจะเห็นว่าเกล็ดน้ำตาลยังเป็นผลึกแข็งตามเดิม ไม่ได้เปลี่ยนรูปไปตามผิวของขวดแก้วแต่อย่างใด​

ภาพ : shutterstock.com

สมบัติอีกข้อของของแข็งคือ มีปริมาตรคงที่เสมอไม่ว่าอยู่ในภาชนะใด โดยเราสามารถวัดปริมาตรของของแข็งได้หลายวิธี ของแข็งที่มีรูปทรงเรขาคณิต เช่น ทรงสี่เหลี่ยม เราสามารถคำนวณปริมาตรโดย

ใช้ความกว้าง คูณ ความยาว คูณ ความสูง ของแข็งที่ไม่มีรูปทรงที่แน่นอน เราอาจใช้วิธีการแทนที่น้ำล้น เพื่อวัดปริมาตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ของแข็งที่ละลายน้ำได้ไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าวนี้

แม้ว่าอนุภาคของของแข็งจะไม่เคลื่อนที่ แต่จะสั่นไหวอยู่ตลอด โดยเป็นผลจากพลังงานที่เข้ามากระทบ ซึ่งถ้าหากพลังงานที่ได้รับมีมากเกินกว่าแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุล ของแข็งก็สามารถแตกหักออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ ของแข็งบางอย่างเช่น โลหะ มีโครงสร้างที่ทำให้บิดงอได้ เมื่อถูกแรงกระทำจึงเสียรูปร่างเดิมแทนการแตกหัก

สรุปสมบัติเบื้องต้นของของแข็ง

1. มีมวล​
2. กินที่ หรือ ต้องการที่อยู่
3. ปริมาตรคงที่ ไม่ขึ้นอยู่กับขนาดภาชนะที่บรรจุ​
4. มีรูปร่างคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามรูปร่างของภาชนะ

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย