นอกจากสัตว์ป่าสงวนแล้ว ประเทศไทยยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองอีกด้วย ซึ่งหมายถึง สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ตามบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง ซึ่งกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด (ครอบคลุมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, สัตว์ปีกหรือนก, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, ปลา, แมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 คือเป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า หรือพยายามล่า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก โดยมีผลรวมไปถึงไข่และซากของสัตว์เหล่านั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้สัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ ต้องเสี่ยงกับการสูญพันธุ์
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามีข้อห้ามข้อบังคับที่ควรทราบ ดังนี้
ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ห้ามล่าสัตว์ ห้ามเก็บรัง ห้ามครอบครองที่ดิน ห้ามแผ้วถาง หรือเปลี่ยนแปลงแหล่งน้ำ เว้นแต่ในกรณีที่การล่าเป็นไปเพื่อป้องกันตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สินหรือด้วยเหตุอื่นใดที่ไม่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ จึงไม่ต้องรับโทษ
สัตว์ป่าคุ้มครองของไทยแบ่งได้ 7 ประเภท ดังนี้
1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด
2. สัตว์ปีกหรือนก 952 ชนิด
3. สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด
4. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด
5. ปลา 14 ชนิด
6. แมลง 20 ชนิด
7. สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ 12 ชนิด
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติมีอำนาจกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ โดยกำหนดเป็นกฎกระทรวง
ในปัจจุบันมีสัตว์ป่าคุ้มครอง 61 ชนิด ที่ได้รับการอนุญาตให้เลี้ยงเพื่อทำการค้าได้
จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย