ป่าไม้ คือ พื้นที่ที่มีบริเวณกว้างใหญ่ ปกคลุมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมาย เป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ เป็นตัวช่วยให้พลังงานในระบบนิเวศหมุนเวียนต่อไป ป่าไม้ในไทยประกอบไปด้วย ป่าดิบเขา, ป่าดิบแล้ง, ป่าดิบชื้น, ป่าสนเขา, ป่าพรุ, ป่าชายเลน, ป่าชายหาด, ป่าเต็งรัง, ป่าเบญจพรรณและป่าหญ้า
ต้นไม้รับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่สัตว์ปล่อยออกมาเพื่อสังเคราะห์ด้วยแสง แล้วปล่อยออกซิเจนกลับมาให้สัตว์ใช้หายใจ ต้นไม้ดูดซับน้ำฝนไว้แล้วคายไอน้ำออกสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดฝนตกหมุนวนไป ป่าไม้ช่วยชะลอการไหลของน้ำที่ต้นน้ำ ทำให้เกิดสายธารซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอีกมากมาย เป็นพลังงานที่หมุนเวียนไม่รู้จบ ถ้าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ ชีวิตในธรรมชาติก็จะดำเนินไปอย่างสมดุล
ป่าไม้ในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ป่าไม่ผลัดใบ และ ป่าผลัดใบ
1. ป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen Forest)
แบ่งตามชนิดของต้นไม้ในป่า คือเป็นไม้ไม่ผลัดใบ จะมีสีเขียวชอุ่มตลอดปี รกชัฏ แบ่งเป็นชนิดย่อยได้อีก 5 ชนิด คือ
1.1 ป่าดิบเมืองร้อน (Tropical Evergreen Forest) กระจายอยู่ทั่วไปทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้ ขึ้นอยู่ทั้งบนแนวเขาและที่ราบลงมา มีความชื้นสูงเพราะอยู่ในเขตลมมรสุมพาดผ่าน สามารถแบ่งย่อยตามระดับความสูงจากน้ำทะเลและสภาพความชื้นได้อีก 3 ชนิด
1.1.1 ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) ขึ้นปกคลุมยอดเขาหรือพื้นที่สูงตั้งแต่ 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป อากาศหนาวเย็น มีปริมาณน้ำฝนสูง ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร พันธุ์ไม้ที่เด่นได้แก่ ก่อสีเสียด ก่อตาหมูน้อย อบเชย ขุนไม้ นางพญาเสือโคร่งและสนสามพันปี ส่วนไม้ชั้นรอง ได้แก่ เป้ง สะเดาช้าง และขมิ้นต้น และไม้พื้นล่างเป็นพวกเฟิร์น กล้วยไม้ดิน และมอส
1.1.2 ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามที่ราบหรือหุบเขา อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 500 เมตร มีช่วงหน้าแล้งปีละ 3-4 เดือน จึงได้ชื่อว่าป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่เด่นได้แก่ มะค่าโมง ตะเคียนหิน ยางนา ยางแดง พะยอม กระเบากลัก และตาเสือ พื้นป่าชั้นล่างค่อนข้างโล่งเตียน
1.1.3 ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest or Tropical Rain Forest) พบได้ทั่วไป มีมากแถบภาคตะวันออกและภาคใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 0-100 เมตร ได้รับฝนตลอดทั้งปี จึงมีความชื้นสูง รกทึบ พันธุ์ไม้ที่เด่นเป็นไม้วงศ์ยาง ยางนา ยางยูง ตะเคียนทอง กะบาก อบเชย จำปาป่า ไม้พื้นล่างได้แก่ ปาล์ม ไผ่ ระกำ หวาย บุกขอน เฟิร์น มอส กล้วยไม้ป่า และเถาวัลย์ต่าง ๆ
1.2 ป่าสนเขา (Pine Forest) พบมากในภาคเหนือบนแถบเขาสูง ที่ระดับ 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถ้าพบที่ภาคตะวันออกมีความสูงเพียง 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศเย็นยาวนาน พันธุ์ไม้ที่เด่น มีเพียงสนสองใบและสนสามใบเท่านั้น นอกจากนั้นก็มีไม้วงศ์ก่อต่าง ๆ พื้นป่าค่อนข้างโล่งโปร่ง
1.3 ป่าพรุ (Swamp forest) เป็นป่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบต่ำ มีลักษณะเป็นป่าในบึงน้ำตื้น ๆ พื้นป่าแฉะ มีน้ำขังตลอด ดินเป็นกรดสูงจึงขัดขวางการย่อยสลายซากพืชของจุลินทรีย์ พบได้มากทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก มักอยู่ถัดจากป่าชายเลน พันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ อินทนิลน้ำ หว้า จิก โสกน้ำ กระทุ่มน้ำ ไม้พื้นล่างประกอบด้วย หวาย ตะค้าทอง และหมากแดง
1.4 ป่าชายเลน (Mangrove Swamp Forest) เป็นป่าที่ขึ้นอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเล และตามปากแม่น้ำ พบมากในภาคใต้ทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน พื้นป่ามีน้ำทะเลท่วมถึงและขึ้นลงตลอดเวลา พันธุ์ไม้เด่น มีเพียงต้นโกงกางที่มีรากค้ำยัน และรากหายใจเท่านั้นที่เหมาะสมกับพื้นที่ลักษณะนี้ ป่าโกงกางมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำหลากหลายชนิด
1.5 ป่าชายหาด (Beach Forest) เป็นป่าที่ขึ้นอยู่ตามชายหาด ชายทะเล พื้นเป็นหิน กรวดและทรายเป็นส่วนมาก สภาพเป็นด่างจัด น้ำทะเลท่วมไม่ถึง พันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ สนทะเล หูกวาง กระทิง โพธิ์ทะเล ไม้พื้นล่าง ได้แก่ ตีนเป็ดทะเลและเตยทะเล
2. ป่าผลัดใบ (Deciduous Forest)
เป็นป่าที่มีไม้ทิ้งใบในช่วงแล้ง แล้วผลิใบใหม่เมื่อเข้าฤดูฝน แบ่งได้อีก 3 ชนิด ดังนี้
2.1 ป่าเต็งรัง (Deciduous Dipterocarp Forest) พบมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามที่ราบสูง 50-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะเป็นป่าโปร่ง ค่อนข้างแล้ง ต้นไม้มีขนาดเล็กและขนาดกลาง ดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรัง มีสีแดง บางทีจึงเรียกว่าป่าแดง พันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ เต็ง รัง แดง พะยอม ประดู่ มะค่า มะขามป้อม ตะแบก ไม้พื้นล่างได้แก่ ไผ่ต่าง ๆ มะพร้าวเต่า หญ้าเพ็ก ปรง และหญ้าอื่น ๆ
2.2 ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) พบมากในภาคเหนือและภาคกลาง แต่ไม่พบในภาคใต้ เป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ขนาดกลาง และไม้ไผ่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป ทางภาคเหนือมักจะมีไม้สักปะปนอยู่ด้วย แต่ไม่พบในภาคใต้ พันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ สัก มะค่า แดง ประดู่ ชิงชัน ตะแบก มะเกลือ ไม้พื้นล่าง เป็นไผ่ต่าง ๆ ไผ่ป่า ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่รวก ไผ่ไร ไผ่นวล เป็นต้น
2.3 ป่าหญ้า (Savanna Forest) เป็นป่าที่เกิดขึ้นหลังจากที่ป่าอื่นถูกแผ้วถางทำลาย ดินเสื่อมโทรมจนไม้ใหญ่ขึ้นไม่ได้ แล้วหญ้าขึ้นแทนที่ เมื่อถึงหน้าแล้ง มักจะเกิดไฟไหม้ทุกปี พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย พืชทั่วไปที่พบคือ กระโดน กระถิน และหญ้าต่าง ๆ เช่น หญ้าคา หญ้าขน หญ้าแฝก หญ้าเพ็ก และอ้อ เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงอย่างมากในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันเรามีพื้นที่ป่าไม้เพียง 34 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด