ปัญหาขยะ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 10.2K views



การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ และการใช้วัสดุพลาสติกก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นโลก เพราะขยะพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ง่ายเหมือนอินทรีสารหรือเศษอาหาร การเผาหรือกลบฝังขยะพลาสติกยังก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งบนบกและในทะเลอีกด้วย

สิ่งมีชีวิตล้วนมีกิจกรรมในการดำเนินชีวิต มีการกินอาหาร และมีการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อพืชสังเคราะห์ด้วยแสงแล้วได้สารอาหาร เหลือน้ำ ออกซิเจนให้ขับถ่ายออกมา สัตว์ก็รับออกซิเจนไปใช้ต่อได้

สัตว์กินพืชขับถ่ายมูลสัตว์ออกมา ก็มีสัตว์บางชนิดกินมูลนั้นต่อเพื่อรับสารอาหารที่ยังคงเหลือในมูล

เมื่อต้นไม้ตาย ก็มีปลวกคอยย่อยสลาย สัตว์กินเนื้อตาย ก็ถูกสัตว์กินซากกินต่อ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดเมื่อตายลง จุลินทรีย์ เห็ด รา ก็ทำหน้าที่ย่อยสลาย ให้กลายเป็นปุ๋ยบำรุงผืนดิน เพื่อให้พืชเจริญงอกงามวนไปอีกครั้ง

ในระบบนิเวศที่สมดุลที่สมบูรณ์ เราจะไม่พบสิ่งใดที่เป็น "ขยะ" (waste) หรือของเหลือใช้ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใด ๆ ได้อีก

แต่ในสังคมมนุษย์ที่มีความเจริญในวัตถุ วิทยาการและเทคโนโลยี เราผลิตขยะจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน ทั้งขยะที่เป็นอินทรีสาร ขยะที่เป็นวัสดุรีไซเคิล เช่น แก้ว โลหะ พลาสติก สังคมเมืองไม่มีพื้นที่ให้เศษอาหาร ซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ได้ย่อยสลายกลับสู่ดิน เรานำทุกอย่างใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงแล้วทิ้งลงถัง

แต่การทิ้งขยะลงถัง ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการย่อยสลาย หน่วยงานที่รับผิดชอบจะนำเอาขยะทั้งหมดไปเทกองรวมกันไว้ในจุดที่กำหนด ขยะเศษอินทรีสารในถุงพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เพราะมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากคอยขวางกั้นอยู่

ภาพ : shutterstock.com

การกลบฝังขยะลงดินทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน การเผาขยะนั้นก็ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม กองขยะเน่าเหม็นจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัญหาวิกฤตในหลายประเทศ เพราะกองขยะเป็นแหล่งเชื้อโรคส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต ขยะยังทำให้น้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนัก

นอกจากนี้ขยะยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก จากการปล่อยก๊าซมีเทน ซัลเฟอร์ และคาร์บอนไดออกไซต์ออกมาอีกด้วย บางแห่งกำจัดขยะโดยทิ้งลงในทะเล ซึ่งกลายเป็นการทำร้ายระบบนิเวศในท้องทะเลอย่างเลือดเย็น

ภาพ : shutterstock.com

สัตว์ทะเลจำนวนมากถูกผ่าซากแล้วพบว่า มันได้กินบรรจุภัณฑ์พลาสติกเข้าไปจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ปลา เต่าทะเล ไปจนถึงวาฬ แม้ในเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่ห่างไกลผู้คนมากที่สุด ยังพบพลาสติกลอยไปติดบนชายหาด

ภาพ : shutterstock.com

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาขยะในปัจจุบัน ทำได้ดังนี้

ในแง่ของผู้ผลิตสินค้า ควรงดใช้พลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ หรือใช้เวลายาวนานในการย่อยสลาย หรือแม้แต่ย่อยสลายได้ไม่หมด เหลือเป็นไมโครพลาสติกซึ่งยังคงอันตรายต่อระบบนิเวศในธรรมชาติแล้วหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน แม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นในช่วงแรก แต่ก็ควรประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการเลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ต่อผู้บริโภค

ในแง่ของผู้บริโภค อาจใช้วิธีจัดการขยะที่สากลนิยมใช้ คือ 3Rs โดยเรียงลำดับตามความสำคัญจากมากสุดไปหาน้อยสุดดังนี้

1. Reduce ลดปริมาณขยะจากต้นทาง คือ ลดการใช้ของที่จะกลายเป็นขยะ เช่นถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง พกถุงผ้าไปจ่ายตลาด พกแก้วน้ำของตัวเองไปซื้อน้ำดื่มแทนการใส่แก้วพลาสติกแบบใช้ได้ครั้งเดียว งดใช้หลอดดูดน้ำหรือเปลี่ยนมาเป็นหลอดแก้ว หลอดสแตนเลสสตีล ไม่ซื้อหรือปรุงอาหารเกินความต้องการในการบริโภค เปลี่ยนขยะเศษอาหารให้กลายเป็นพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า หรือ "ชีวมวล (Biomass)" ด้วยการหมักขยะอย่างถูกวิธีในครัวเรือน แทนการเทใส่ถุงขยะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เกิดขยะจากมือเราน้อยที่สุด ถ้าทำได้ ปริมาณขยะที่เราผลิตก็จะลดลงอย่างมาก

2. Reuse นำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำอีก เมื่อจะทิ้งอะไรให้เป็นขยะ ให้ทบทวนดูว่าเรายังใช้งานมันได้ต่อไปหรือไม่ เราควรใช้งานมันให้คุ้มค่าที่สุดก่อนที่จะทิ้งให้เป็นขยะ และกลายเป็นภาระแก่โลก

3. Recycle เอาของเหลือใช้มาดัดแปลงเป็นของใช้ใหม่แทนการทิ้งลงถัง เช่น ขวดแก้วเหลือใช้ นำไปทำเป็นแจกัน เศษไม้เหลือใช้ นำไปต่อเป็นโต๊ะ ชั้นวางรองเท้า เป็นต้น

ท้ายที่สุด ถ้าต้องทิ้งขยะจริง ๆ ให้คัดแยกขยะก่อนทิ้งตามประเภท ดังนี้

- ขยะอินทรีย์ (Compostable waste) พวกเศษอาหาร ของที่ย่อยสลายได้ ถ้าไม่ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือทำปุ๋ย อาจฝังดินกลบหลังบ้าน

- ขยะรีไซเคิล (Recyclable waste) ทำความสะอาดแล้วแยกประเภทวัสดุก่อนทิ้ง เพื่อให้ง่ายต่อการนำกลับไปเข้าโรงแปรรูปอีกครั้ง

- ขยะอันตราย (Hazardous waste) หมายถึงวัตถุไวไฟ วัตถุกัดกร่อน วัตถุมีพิษ เช่น กระป๋องยาฆ่าแมลง กระป๋องสเปรย์ หลอดไฟแตก แบตเตอรี่หมดอายุ ควรทิ้งในจุดที่กำหนดเท่านั้น

- ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical Waste) คือ อุปกรณ์ไฟฟ้า ไอที เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น ทีวี ที่พัง ใช้การไม่ได้แล้ว ควรทิ้งในจุดที่กำหนดเช่นกัน

- ขยะทั่วไป (General waste) ของเสียอื่น ๆ นอกจากนี้ อาจใส่ถุงขยะมัดปากถุงแล้วทิ้งลงถัง

ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจำกัดขยะก็ต้องคัดแยกเพื่อนำไปจัดการฝังกลบ ส่งโรงงานรีไซเคิล หรือเผาทำลายอย่างถูกวิธีด้วยเช่นกัน

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย