ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 87K views



ในระบบนิเวศหนึ่ง ๆ สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ย่อมต้องมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการร่วมมือกัน การล่าเหยื่อ และการแก่งแย่งแข่งขัน สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์ ล้วนมีบทบาทเป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติ

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีแรงจูงใจเดียวกันคือการอยู่รอด เมื่อแสดงออกมาผ่านความสัมพันธ์ต่อกันจึงก่อเกิดเป็นความสมดุลของธรรมชาติ ซึ่งเราสามารถแบ่งรูปแบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตได้ดังต่อไปนี้

ภาพ : shutterstock.com

1) ความสัมพันธ์แบบ การร่วมมือกัน (Protocooperation) + , +

เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตสองชนิดขึ้นไปช่วยเหลือกันและกัน ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากอีกฝ่าย เช่น มดและเพลี้ย มดช่วยดูแลและปกป้องเพลี้ยจากศัตรู มดได้น้ำหวานจากเพลี้ย เพลี้ยได้ผู้พิทักษ์

พืชดอกและแมลง แมลงเช่น ผึ้งและผีเสื้อ แมลงได้น้ำหวานจากดอกไม้ และดอกไม้ก็ได้ผู้ช่วยในการผสมเกสร

นกกับสัตว์สี่เท้า เช่น นกเอี้ยงกับควาย หรือนกกับยีราฟ นกช่วยกำจัดแมลงที่รบกวนสัตว์ใหญ่เหล่านี้ ในขณะที่นกเองก็ได้แหล่งหาอาหารที่สะดวกสบาย

นกกับพริก นกได้อาหาร แต่เมล็ดพริกไม่ย่อย เมื่อนกถ่าย เมล็ดพริกก็จะมีโอกาสเติบโตเป็นต้นพริกต่อไป

รูปแบบความสัมพันธ์นี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น สิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดนั้นก็ยังคงดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้เป็นปกติ

ภาพ : shutterstock.com

2) ความสัมพันธ์แบบ การล่าเหยื่อ (Predation) + , -

เป็นความสัมพันธ์ที่ผู้ล่าได้ประโยชน์ แต่เหยื่อเป็นผู้เสียประโยชน์ การล่าเหยื่อคือการที่สิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ เอาสิ่งมีชีวิตอื่นมาเป็นอาหารของตน รวมความถึงการกินพืชแบบทั้งต้น หรือการกินเมล็ดพืชแบบที่พืชขยายพันธุ์ต่อไม่ได้ด้วย

ผู้ล่าส่วนใหญ่เป็นสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์กินเนื้อ อย่าง เสือ หมี งู ปลา จระเข้ เหยี่ยว และแมลงต่าง ๆ แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ โดยเหยื่อมักเป็นสัตว์กินพืชทั่วไปตลอดจนสัตว์กินเนื้อด้วยกันที่ตัวเล็กหรือพละกำลังน้อยกว่า

สิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ล่าอาจเป็นพืชได้เช่นกัน เช่น ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ดักจับแมลงเป็นอาหาร

ภาพ : shutterstock.com

3) ความสัมพันธ์แบบ การแก่งแย่งแข่งขัน (Competition) - , -

เป็นความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตสองชนิดขึ้นไป แก่งแย่งแข่งขันกันเองจนเสียประโยชน์ทุกฝ่าย แม้แต่ฝ่ายที่ได้เปรียบก็ถือว่าไม่ได้ประโยชน์เต็มที่เท่ากับในสภาวะที่ไม่มีการแก่งแย่งกัน การแก่งแย่งเกิดจากความต้องการในทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด เช่น แหล่งอาหาร แหล่งน้ำ อาณาเขต รวมถึงการแย่งเพศเมียในสัตว์เพศผู้ชนิดเดียวกัน

ในพืชก็เกิดการแก่งแย่งได้เช่นกัน เช่น พืชตระกูลถั่วที่มีปมที่ราก ใช้ในการดูดซับไนโตรเจนในดินได้ดี ทำให้ไนโตรเจนในดินลดลงอย่างมาก จนพืชอื่นไม่สามารถดูดซึมได้และเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ในบรรดาสัตว์กินพืชด้วยกัน อาจเกิดการแย่งแหล่งน้ำแห้งขอด ทำให้สัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้รับน้ำไม่เพียงพอจนลดจำนวนลง

ในบางกรณี สัตว์กินเนื้อสองสายพันธุ์ที่มีเหยื่อชนิดเดียวกัน ก็ล่าจนเหยื่อเหลือจำนวนน้อยนิด ส่งผลให้อาหารของผู้ล่าทั้งสองไม่พอต่อจำนวนสมาชิกในฝูง จนต้องอดอาหารล้มตายลงในที่สุด

และบางครั้ง เหยื่อสองชนิดของผู้ล่าชนิดเดียวก็แข่งขันกันเอง เช่น กระต่ายป่า และ ละมั่ง เป็นเหยื่อของสุนัขป่า หากกระต่ายป่าขยายพันธุ์ได้รวดเร็วจนเพิ่มจำนวนได้มหาศาล สุนัขป่าก็จะได้อาหารจนเกินพอ

ส่งผลให้สุนัขป่าขยายพันธุ์ตามไปด้วย ละมั่งจึงถูกสุนัขป่าที่เพิ่มขึ้นมาล่าเป็นอาหารมากขึ้น จนละมั่งจนจำนวนลง เท่ากับว่า การขยายพันธุ์ของกระต่ายป่าทำให้จำนวนละมั่งต้องลดลง การดำรงอยู่ของกระต่ายป่าและละมั่งเป็นการแข่งขันกัน เป็นต้น

4) ความสัมพันธ์แบบ อาศัยอยู่ร่วมกัน (Symbiosis)

สามารถแยกได้เป็น 5 รูปแบบหลัก ๆ คือ

ภาพ : shutterstock.com

          4.1) ภาวะพึ่งพา (Mutualism) + , +

เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตสองชนิดขึ้นไป ที่ต่างจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง หากแยกออกจากกัน ก็จะเกิดปัญหาในการดำรงชีวิต ได้แก่

จุลินทรีย์ในลำไส้สัตว์ เช่น แบคทีเรียบางชนิดใช้ลำไส้ของคนเป็นที่อยู่ที่มีสภาพเหมาะสม และอาศัยกินอาหารที่ผ่านลำไส้ ส่วนคนก็ได้ประโยชน์จากการที่แบคทีเรียช่วยย่อยและดูดซึมอาหารที่ย่อยเองไม่ได้

หรือโปรโตซัวในลำไส้ปลวก ช่วยย่อยเซลลูโลสหรือเส้นใยของไม้ที่ปลวกกินเข้าไป ทำให้ปลวกย่อยไม้ได้ และทั้งคู่ได้อาหาร

นอกจากอาณาจักรสัตว์ สาหร่ายและรา ก็อยู่ร่วมกันบนเปลือกไม้ โดยราทำให้สาหร่ายชุ่มชื้น และสาหร่ายสังเคราะห์ด้วยแสงให้อาหารแก่รา เกิดเป็นไลเคนส์ (Lichens)

ภาพ : shutterstock.com

     4.2) ภาวะอิงอาศัย (Commensalism) + , 0

เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตสองชนิด ที่ฝ่ายหนึ่งจะได้รับประโยชน์ อาจเป็น อาหาร ที่หลบภัย สัญญาณเตือน จากอีกฝ่ายที่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย แต่ก็ไม่ได้เสียประโยชน์หรือเกิดโทษแต่ประการใด เช่น

ยีราฟกับม้าลาย โดยยีราฟจะเป็นเหมือนผู้ระวังภัย เพราะยีราฟมีคอที่ยาวมาก จึงอาจเห็นผู้ล่าได้ไกลกว่า เมื่อยีราฟตื่นตกใจและวิ่งหนี ก็จะเป็นสัญญาณให้ม้าลายรีบหนีได้ในทันที

ฉลามและเหาฉลาม โดยเหาฉลามจะคอยว่ายน้ำติดตามฉลามเพื่ออาศัยกินเศษอาหารที่ฉลามล่าโดยที่ ฉลามไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเหาฉลาม และก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไรเช่นกัน

ต้นไม้และนก โดยนกส่วนใหญ่จะเลือกทำรังบนที่สูงเช่นต้นไม้ใหญ่ นกได้ที่พัก ต้นไม้ไม่ได้ไม่เสียอะไร ยกเว้นนกบางชนิด เช่น นกหัวขวาน

ภาพ : shutterstock.com

     4.3) ภาวะปรสิต (Parasitism) + , -

เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตสองชนิดที่ฝ่ายหนึ่งจะได้ประโยชน์ แต่อีกฝ่าย (Host) จะเสียประโยชน์ หรือได้รับอันตราย ได้แก่

กาฝากกับต้นมะม่วง กาฝากเป็นพืชที่เมื่อเกาะกับต้นมะม่วงแล้ว จะแทงรากของตัวเองเจาะเข้าไปจนถึงท่อน้ำเลี้ยงของต้นมะม่วง แย่งน้ำและอาหารจากเจ้าของบ้าน จนต้นมะม่วงตายในที่สุด

กาและกาเหว่า กาเหว่าจะแอบมาวางไข่ของตัวเองในรังกา และกลิ้งไข่กาทิ้งจากรังเพื่อให้กาฟักไข่แทน เมื่อลูกนกกาเหว่าออกจากไข่ก็จะแย่งอาหารจากลูกกาหรือผลักลูกกาตกรังตาย

พยาธิในคน พยาธิที่อาศัยในลำไส้คน จะแย่งสารอาหารจากคน ทำให้คนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจนอาจถึงตายได้

เห็บกับสุนัข เห็บจะคอยเกาะกินเลือดของสุนัขตลอดเวลา เห็บได้ประโยชน์ แต่สุนัขเสียประโยชน์จากการอยู่ร่วมกัน

ภาพ : shutterstock.com

     4.4) ภาวะเป็นกลาง (Neutralism) 0 , 0

คือการที่สิ่งมีชีวิตสองชนิดขึ้นไป อยู่ร่วมบริเวณที่อยู่เดียวกัน ไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อกัน ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ต่อกัน เช่น

แมงมุมกับเห็ดในขอนไม้ผุ เห็ดย่อยสลายเนื้อไม้เป็นอาหาร (Saprophytism) ส่วนแมงมุมก็ดักจับแมลงที่หลงเข้ามาในขอนไม้เป็นอาหาร เห็ดไม่ใช่อาหารหรือที่หลบซ่อนของแมงมุม ทั้งสองต่างไม่ยุ่งเกี่ยวกัน

ภาพ : shutterstock.com

     4.5) ภาวะกระทบกระเทือน (Amensalism) 0 , -

เป็นภาวะที่การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มีผลกระทบกระเทือนไปยังสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในด้านลบ คือฝ่ายหนึ่งไม่ได้ไม่เสีย แต่อีกฝ่ายเสียประโยชน์ เช่น

ราบางชนิดจะปล่อยสารเคมีออกมาในสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวมัน ซึ่งมันไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ใด ๆ จากการปล่อยสารเคมีนี้ แต่แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เพราะสารเคมีนั้น

ต้นไม้สูงใหญ่ในป่า เช่นต้นสน แผ่กิ่งก้านร่มใบหนา จนบดบังแสงแดด แสงอาทิตย์ไม่สามารถเล็ดลอดลงมาสู่พื้นเบื้องล่างได้ ต้นไม้ที่เตี้ยกว่า ไม้พุ่ม ต้นหญ้า จึงไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้อย่างเพียงพอ

ต้นสนไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ แต่ต้นไม้อื่น ๆ กลับเสียประโยชน์ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในป่าสน

สรุป

การดำรงอยู่ร่วมกันในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด ล้วนนำมาซึ่งความสมดุลของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ป่าไม้เป็นแหล่งอาหาร เป็นจุดเริ่มต้นของการหมุนเวียนพลังงาน สัตว์ต่าง ๆ อาศัยป่าไม้เป็นที่พำนักพักพิง แม้แต่สัตว์กินเนื้อก็ต้องอาศัยป่าเพื่อให้มีแหล่งอาหาร ในขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของสัตว์กินเนื้อ ก็ทำให้พืชพรรณในป่าดำรงอยู่ได้ ไม่หมดไปเพราะการเพิ่มจำนวนไม่หยุดของสัตว์กินพืชเช่นกัน สมดังพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ว่า “เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี”

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย