การต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าแบบอนุกรมและแบบขนาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 301.4K views



         การต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าหรือโหลดเข้ากับวงจรไฟฟ้า สามารถต่อได้ 2 แบบหลักๆ คือ ต่อแบบ “อนุกรม” และต่อแบบ “ขนาน” ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เราสามารถสังเกตความแตกต่างได้ง่าย ๆ โดยใช้หลอดไฟเป็นตัวทดสอบ

         การต่อหลอดไฟแบบอนุกรม (Series Circuit) ทำได้โดย เชื่อมต่อหลอดไฟทุกดวงเข้ากับวงจรไฟฟ้าให้เป็นวงเดียวกัน โดยการต่อหลอดไฟแบบอนุกรมนี้ หลอดไฟแต่ละดวงที่เพิ่มเข้าไปจะทำให้ค่าความต้านทานไฟฟ้าของวงจรเพิ่มมากขึ้น ถ้าพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดมีไม่เพียงพอ หลอดไฟจะสว่างน้อยลงเรื่อย ๆ สวนทางกับจำนวนหลอดไฟที่เพิ่มเข้าไป และหากหลอดไฟดวงใดดวงหนึ่งชำรุดเพียงแค่ดวงเดียว ก็จะทำให้หลอดไฟทุกดวงดับทั้งหมด เพราะวงจรไฟฟ้าเปิด

ภาพ : shutterstock.com

         การต่อหลอดไฟฟ้าแบบขนาน (Parallel Circuit) ทำได้โดย เชื่อมต่อหลอดไฟแต่ละดวงเข้ากับวงจรไฟฟ้าโดยให้ไฟฟ้าสามารถไหลผ่านครบวงจรได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหลอดไฟดวงอื่นเป็นทางผ่าน หรือก็คือให้หลอดไฟแต่ละดวงมีวงจรไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ซึ่งการต่อหลอดไฟแบบขนานนี้ หลอดไฟแบบเดียวกันแต่ละดวงจะสว่างเท่ากัน ไม่ขึ้นกับว่าต่อหลอดไฟเข้าไปในวงจรกี่ดวง แต่หลอดไฟที่เพิ่มเข้าไปในวงจรจะดึงพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้ามากขึ้น แบตเตอรี่จึงหมดเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการต่อหลอดไฟจำนวนเท่ากันในแบบอนุกรม

         ประโยชน์ของการต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าแบบขนานที่สำคัญก็คือ หากอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างเช่นหลอดไฟดวงใดดวงหนึ่งชำรุดเสียหายหรือไส้หลอดขาด หลอดไฟหรือโหลดอื่น ๆ ยังคงใช้งานได้ต่อไป เพราะกระแสไฟยังคงไหลผ่านได้ครบวงจร แล้วเรายังรู้ตำแหน่งของโหลดที่ชำรุดเพื่อเปลี่ยนหรือซ่อมได้ทันที ต่างจากการต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าแบบอนุกรม ด้วยเหตุนี้ วงจรไฟฟ้าตามบ้านเรือนจึงนิยมการต่อแบบขนานมากกว่า

         อย่างไรก็ตาม เราสามารถต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าแบบวงจรผสมได้ด้วย เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อดีของวงจรไฟฟ้าทั้งสองประเภทนั่นเอง

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย