เราไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสของเราทดสอบความเป็นกรดเบสของสารละลายได้โดยตรง แต่เราสามารถใช้อินดิเคเตอร์ในการทดสอบสารละลายเหล่านั้น เช่น การใช้กระดาษลิตมัส การใช้สารละลายฟีนอล์ฟทาลีน การใช้ยูนิเวอร์ซัลอินดิเคเตอร์
อินดิเคเตอร์ (Indicator) คือ สารที่ใช้ทดสอบความเป็นกรดเบสของสารละลาย เช่น กระดาษลิตมัส สารละลายฟีนอล์ฟทาลีน บรอมไทมอลบลู ยูนิเวอร์ซัลอินดิเคเตอร์ หรือสีที่สกัดจากดอกไม้ ใบไม้ของพืชบางชนิด เป็นต้น
การใช้กระดาษลิตมัส
1. ใช้กระดาษลิตมัสทีละแผ่นทั้ง 2 สี ตัดให้มีขนาดพอเหมาะกับที่จะใช้ มือที่หยิบกระดาษลิตมัสจะต้องสะอาดและแห้ง
2. วางกระดาษลิตมัสบนถ้วยกระเบื้องหรือแผ่นกระจก หรือกระดาษที่สะอาด ใช้แท่งแก้วที่สะอาดแตะของเหลว แล้วนำมาแตะกระดาษลิตมัสทั้งสองสี
3. สังเกตการเปลี่ยนสีของกระดาษลิตมัส
3.1 สารละลายในน้ำที่ทำให้กระดาษลิตมัสสีน้ำเงินเปลี่ยนเป็นสีแดงมีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู น้ำมะขาม น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำผักผลไม้ น้ำฝน
3.2 สารละลายในน้ำที่ทำให้กระดาษลิตมัสสีแดงเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินมีฤทธิ์เป็นเบส เช่น น้ำผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำสบู่ น้ำปูนใส น้ำยาปรับผ้านุ่ม สารละลายโซดาไฟ
3.3 สารละลายในน้ำที่ไม่ทำให้กระดาษลิตมัสเปลี่ยนสีเลยมีฤทธิ์เป็นกลาง เช่น น้ำกลั่น น้ำหวาน น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ น้ำมันเบนซิน
การใช้สารละลายฟีนอล์ฟทาลีน
1. หยดสารละลายฟีนอล์ฟทาลีนลงไปในสารละลายที่ต้องการทดสอบ
2. ถ้าสารละลายเปลี่ยนเป็นสีชมพูแสดงว่าสารละลายนั้นเป็นเบส แต่ถ้าสารละลายไม่เกิดการเปลี่ยนสีแสดงว่าสารละลายนั้นเป็นกรดหรือเป็นกลาง
การใช้ยูนิเวอร์ซัลอินดิเคเตอร์
1. ใช้กระดาษยูนิเวอร์ซัลอินดิเคเตอร์จุ่มในสารละลายที่ต้องการ
2. นำกระดาษยูนิเวอร์ซัลอินดิเคเตอร์ไปเทียบสีกับสีข้างกล่อง จะทราบได้ว่าสารละลายนั้นเป็นกรดหรือเบสและมีค่า pH ประมาณเท่าไหร่
อินดิเคเตอร์จากดอกไม้ของพืชบางชนิดสามารถใช้ตรวจสอบความเป็นกรดหรือเบสของสารต่าง ๆ ได้ เช่น
- น้ำดอกอัญชัน จะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีม่วงในสารละลายที่มีสมบัติเป็นกรด
- น้ำขมิ้นชัน จะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีส้มหรือสีน้ำตาลในสารละลายที่มีสมบัติเป็นเบส
- น้ำดอกกระเจี๊ยบ, น้ำดอกชบาซ้อน จะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียวในสารละลายที่มีสมับติเป็นเบส
- น้ำดอกดาวเรือง จะเปลี่ยนจากไม่มีสีเป็นสีเหลืองในสารละลายที่มีสมบัติเป็นเบส