การจำแนกสาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 273K views



เราสามารถจำแนกสารผสมที่มีอยู่ในโลกนี้อย่างง่าย ๆ ได้ 2 ประเภท คือ สารเนื้อเดียว และสารเนื้อผสม สารเนื้อเดียวมีทั้งที่เป็นของแข็ง ของเหลว และแก๊ส รวมถึงสารละลายด้วย นอกจากนี้ยังมีสารบางประเภทที่เรียกว่า สารแขวนลอย หรือคอลลอยด์อีกด้วย

ภาพ : shutterstock.com

ถ้าใช้ลักษณะเนื้อสารเป็นเกณฑ์ในการจำแนกสาร สามารถจำแนกสารเป็น 2 ประเภทดังนี้

        1. สารเนื้อเดียว คือ สารที่มีเนื้อผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และทุกส่วนมีสมบัติเหมือนกัน เช่น น้ำกลั่น น้ำส้มสายชู น้ำเกลือ น้ำเชื่อม เกลือแกง น้ำตาลทราย เป็นต้น
        2. สารเนื้อผสม คือ สารที่เนื้อไม่ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และทุกส่วนมีสมบัติไม่เหมือนกัน เช่น ส้มตำ น้ำพริก ดิน น้ำโคลน พริกปนเกลือ ตะปูขึ้นสนิม เป็นต้น

สารเนื้อเดียวมีส่วนประกอบดังนี้

        - ประกอบด้วยสารเพียงชนิดเดียว เช่น น้ำกลั่น เกลือแกง น้ำตาลทราย แป้งมัน
        - ประกอบด้วยสารมากกว่า 1 ชนิด เช่น น้ำเกลือ (น้ำ+เกลือแกง) น้ำเชื่อม (น้ำ+น้ำตาลทราย)

สารเนื้อเดียวที่ประกอบด้วยสารมากกว่า 1 ชนิด อาจมีลักษณะดังนี้

        - ประกอบด้วยสารมากกว่า 1 ชนิด และสารทุกชนิดมีสถานะเหมือนกัน เช่น น้ำส้มสายชู ประกอบด้วยน้ำและกรดแอซีติกที่มีสถานะเป็นของเหลว
        - ประกอบด้วยสารมากกว่า 1 ชนิด สารแต่ละชนิดมีสถานะต่างกัน เช่น น้ำเชื่อม ประกอบด้วยน้ำและน้ำตาลทราย น้ำเป็นของเหลว น้ำตาลทรายเป็นของแข็ง

สารเนื้อเดียวมีทั้ง 3 สถานะดังนี้

        - สารเนื้อเดียวที่มีสถานะเป็นของแข็ง เช่น ตะปูเหล็ก แผ่นอะลูมิเนียม ทองเหลือง ผงถ่าน แนพทาลีน ผงชูรส
        - สารเนื้อเดียวที่มีสถานะเป็นของเหลว เช่น น้ำหมึก น้ำมันเครื่อง น้ำเชื่อม เอทานอล กรดไฮโดรคลอริก
        - สารเนื้อเดียวที่มีสถานะเป็นแก๊ส เช่น อากาศ

ถ้าใช้ขนาดของอนุภาคของสารเป็นเกณฑ์ในการจำแนกสารที่มีสถานะเป็นของเหลว สามารถจำแนกสารได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

        1. สารแขวนลอย (suspension) ประกอบด้วยอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 10-4 เซนติเมตร กระจายอยู่ในตัวกลาง จึงมองเห็นส่วนผสมของสารแขวนลอยได้ชัด เมื่อตั้งไว้จะตกตะกอนแยกออกมาจากตัวกลาง เมื่อฉายแสงผ่านจะทึบแสง อนุภาคของสารแขวนลอยไม่สามารถผ่านทั้งกระดาษกรองและเซลโลเฟน เช่น น้ำแป้งดิบ น้ำโคลน ซอสพริก ยาลดกรดชนิดน้ำ เป็นต้น
        2. คอลลอยด์ (colloids) ประกอบด้วยอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 10-4 cm ถึง 10-7 cm เมื่อฉายแสงผ่านจะเห็นลำแสงเกิดขึ้น อนุภาคของสารที่กระจายอยู่ในตัวกลางจะผ่านกระดาษกรองได้ แต่ไม่ผ่านเซลโลเฟน เช่น น้ำแป้งสุก น้ำนมสด น้ำนมเปรี้ยว น้ำนมถั่วเหลือง เป็นต้น
        3. สารละลาย (solution) ประกอบด้วยอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 10-7 cm เมื่อฉายแสงผ่านลำแสงจะผ่านได้ตลอดไม่เห็นลำแสง อนุภาคสารจะผ่านได้ทั้งกระดาษกรองและเซลโลเฟน เช่น น้ำสี น้ำอัดลม น้ำมันดีเซล เป็นต้น