นักวิทยาศาสตร์สำคัญของโลก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 35.8K views



นักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของโลกมีอยู่มากมายหลายคน เช่น เซอร์ไอแซก นิวตัน, กาลิเลโอ กาลิเลอี, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, โทมัส อัลวา เอดิสัน, อริสโตเติล, หลุยส์ ปาสเตอร์, ชาร์ลส์ ดาร์วิน, นิโคลา เทสลา เป็นต้น แต่ละคนล้วนมีประวัติและผลงานที่น่าสนใจ ดังนี้

ภาพ : shutterstock.com

เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton)

        เซอร์ไอแซก นิวตัน เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1642 และเสียชีวิตลงขณะอายุ 85 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1727 ซึ่งเขาเป็นอัจฉริยะที่เก่งรอบด้านทั้งในฐานะนักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักปรัชญา นักเล่นแร่แปรธาตุ และนักเทววิทยา โดยผลงานเด่นที่สุดของเขาที่คนรู้จักกันดีที่สุดก็คือ กฎการเคลื่อนที่ของนิวตันและกฎแรงโน้มถ่วงสากล ที่เขาคิดขึ้นมาได้จากการสังเกตผลแอปเปิลที่ตกจากต้นนั่นเอง

ภาพ : shutterstock.com

กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei)

        นักวิทยาศาสตร์เจ้าของฉายา "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่" เกิดที่ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 และมีชีวิตอยู่จนอายุ 77 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1642 โดยเขาเป็นผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแนวคิดของวิทยาศาสตร์ยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง ด้วยการยึดมั่นในทฤษฎีของตัวเองว่าดาวเคราะห์เป็นฝ่ายหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งขัดกับความเชื่อของชาวคริสต์ในสมัยก่อนที่สนับสนุนทฤษฎีของอริสโตเติล ที่เชื่อว่าพระอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นฝ่ายหมุนรอบโลก จนทำให้เขาถูกห้ามไม่ให้สอนนักเรียนของเขาเกี่ยวกับทฤษฎีนี้อีก มิฉะนั้นจะถูกจับเผาทั้งเป็น เขาจึงได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นมาด้วยตัวเองเพื่อศึกษาเพิ่มเติมและพิสูจน์ว่าทฤษฎีของเขาเป็นความจริงในที่สุด

ภาพ : shutterstock.com

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)

        นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เกิดเมื่อวัน ที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1879 และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1955 ในขณะที่มีอายุ 78 ปี ซึ่งถึงแม้เขาจะเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่คนทั่วโลกรู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ที่จริงแล้วเขาเคยเป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้มาก่อน โดยเขาไม่สามารถพูดได้จนกระทั่งอายุ 3 ขวบ และอ่านหนังสือออกเมื่อ 8 ขวบ จนไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จได้มากขนาดที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมถึงสร้างทฤษฎีใหม่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะผลงานเด่น เช่น ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษที่อธิบายว่าเราทุกคนจะมองเห็นอัตราความเร็วแสงได้ในระยะเท่ากัน และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายกฎแรงโน้มถ่วงในเชิงเรขาคณิต ซึ่งทำให้นักวิชาการหลายคนจับตามองจนได้รับรางวัลโนเบลในที่สุด

ภาพ : shutterstock.com

โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)

        นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1847 และเสียชีวิตในวัย 84 ปี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1931 เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์มากมายที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันกว่า 1,000 ชิ้น โดยเฉพาะการคิดค้นหลอดไฟที่เป็นผลงานชิ้นเอก แม้ว่าเขาจะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ทำให้อ่านหนังสือไม่ออกจนกระทั่งอายุ 12 ปี และบกพร่องเรื่องการฟังหลังประสบอุบัติเหตุบนรถไฟก็ตาม

ภาพ : shutterstock.com

อริสโตเติล (Aristotle)

        นักวิทยาศาตร์ชาวกรีกซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 384-322 ปีก่อนคริสต์ศักราชอย่าง อริสโตเติล เป็นผู้เชี่ยวชาญรอบด้านในหลายสาขา เช่น ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ วรรณกรรม และชีววิทยา ไหวพริบของอริสโตเติลนั้นทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอกของอัจฉริยะ อย่างเพลโต ตั้งแต่อยู่ในวัย 18 ปี โดยผลงานที่เด่นที่สุดของเขาเห็นจะเป็นด้านชีววิทยา ซึ่งเขาเป็นผู้จำแนกประเภทของสัตว์ตามลักษณะออกเป็น 2 ประเภท คือ พวกที่มีกระดูกสันหลังและพวกที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ทำให้ผู้คนนับถือความสามารถจนได้เป็นพระอาจารย์และพระสหายสนิทของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

ภาพ : shutterstock.com

หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)

        หลุยส์ ปาสเตอร์ เป็นนักเคมีและนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1822 และเสียชีวิตลงในวัย 72 ปี เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1895 ซึ่งถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยชีวิตผู้คนมากที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเป็นผู้คิดค้นวิธีรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคพิษสุนัขบ้าและโรคแอนแทรกซ์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยทำให้มนุษย์เราสะดวกสบายมากขึ้น จากการคิดค้นวิธีพาสเจอร์ไรส์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและถนอมอาหารให้เก็บได้นานขึ้นอีกด้วย

ภาพ : shutterstock.com

ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin)

        ชาลส์ ดาร์วิน เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809 และเสียชีวิตลงในวัย 73 ปี ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1882 ซึ่งจนกระทั่งยุคปัจจุบัน ทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติคนนี้คิดค้นขึ้นก็งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะมีทั้งคนที่ยอมรับและโต้แย้งในเวลาเดียวกัน โดยดาร์วินได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสัตว์ต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งอ้างว่าสัตว์ทั้งหลายจะปรับสภาพร่างกายเพื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมทำให้มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิวัฒนาการ ซึ่งแม้ในปัจจุบันเขาจะได้รับยกย่องเป็นนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะคนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังมีผู้ที่ปฏิเสธแนวคิดของเขาเช่นกัน

ภาพ : shutterstock.com

นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla)

        นิโคลา เทสลา เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวโครเอเชียสัญชาติอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1856 และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1943 ในขณะที่มีอายุ 86 ปี โดยมีฉายาว่า "นักประดิษฐ์ที่โลกลืม" เพราะเป็นนักประดิษฐ์คนสำคัญแต่กลับมีน้อยคนที่รู้จัก หรือถูกรู้จักในฐานะนักวิทยาศาสตร์เพี้ยนจากการที่เขามีปัญหาในการเข้าสังคม มากกว่าจะสนใจผลงานของเขาที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้คนอื่น ๆ ซึ่งเขาเป็นผู้ประดิษฐ์ขดลวดเทสลา หรือ Tesla coil ซึ่งเป็นหม้อแปลงที่สามารถสร้างแรงดันไฟฟ้าสูง แถมยังเป็นผู้ค้นพบวิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็กเทสลา อีกทั้งยังเป็นผู้ค้นพบวิธีการสื่อสารแบบไร้สายอีกด้วย