ความชื้นในอากาศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.4K views



มรุตเทพ วงษ์วาโย

 

        นอกจากอุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้นในอากาศก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่เป็นตัวกำหนดสภาพอากาศ โดยความชื้นในอากาศก็คือ ไอน้ำในอากาศนั่นเอง ซึ่งไอน้ำในอากาศมาจากการระเหยเป็นไอของน้ำจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ทะเล แม่น้ำ บ่อน้ำ หรือน้ำระเหยจากสิ่งมีชีวิต เช่น ต้นไม้คายน้ำ ไอน้ำจากลมหายใจของสัตว์ ไอน้ำจากระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์ ไอน้ำจากการปรุงอาหาร ไอน้ำจากแก้วน้ำ ไอน้ำจากน้ำฝนบนพื้น

        ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ลอยขึ้นไปปะปนในอากาศ ทำให้อากาศชื้น ยิ่งมีไอน้ำมาก ความชื้นก็ยิ่งสูงตามไปด้วย โดยเราวัดความชื้นได้ด้วยไฮโกรมิเตอร์ (Hygrometer) และเพราะความชื้นสัมพันธ์กับอุณหภูมิ การวัดความชื้นจึงนิยมวัดเป็นค่าความชื้นสัมพัทธ์

ภาพ : shutterstock.com

        อากาศในอุณหภูมิหนึ่งจะสามารถรับไอน้ำได้จำกัด ถ้ามีน้ำระเหยเป็นไอมากจนอากาศอุ้มเอาไว้ไม่ได้อีกต่อไป น้ำก็จะไม่สามารถระเหยไปในอากาศนั้นได้อีก เราจะวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศนั้นได้ 100% หมายถึงอากาศที่อุณหภูมินั้นรับไอน้ำไว้เต็มความสามารถที่จะรับได้แล้ว เราหากอยู่ในสภาพอากาศแบบนี้ เราจะรู้สึกร้อนชื้น เหนอะหนะ ไม่สบายตัว เพราะเหงื่อเราจะระเหยไม่ได้ ความร้อนในร่างกายก็จะไม่ระบายออก ถ้าตากผ้า ผ้าก็จะไม่แห้ง ถ้าตากอาหารไว้ อาหารก็จะเกิดกลิ่นเหม็นหรือขึ้นรา

ภาพ : shutterstock.com

        ในอากาศที่วัดความชื้นสัมพัทธ์ได้ 100% ถ้าเราเพิ่มอุณหภูมิให้กับอากาศนั้น ความชื้นสัมพัทธ์จะลดลง เช่น ความชื้นสัมพัทธ์เหลือเพียง 70% หมายถึงอากาศนี้รับไอน้ำไว้ 70 ส่วนจาก 100 ส่วนที่สามารถรับได้ ซึ่งหมายความว่าเราสามารถเพิ่มการระเหยของน้ำเข้าไปในอากาศได้อีก แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราลดอุณหภูมิของอากาศนั้นลง อากาศที่อิ่มตัวด้วยไอน้ำแล้วจะรับไอน้ำได้น้อยลงไปอีก ทำให้มีไอน้ำส่วนหนึ่งไม่สามารถคงสถานะแก๊สได้อีกต่อไป เกิดการควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำเล็ก และนี่ก็คือกระบวนการในการเกิดน้ำค้างนั่นเอง

ภาพ : shutterstock.com