ความกดอากาศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 15.7K views



มรุตเทพ วงษ์วาโย

 

        นอกจากอุณหภูมิของอากาศ อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพอากาศก็คือ ความกดอากาศ หรือ ความดันบรรยากาศ ซึ่งความกดอากาศก็คือน้ำหนักของอากาศที่กดลงบนพื้นโลกในหนึ่งหน่วยพื้นที่ ซึ่งเราสามารถวัดได้ด้วยบารอมิเตอร์ (Barometer) มีหน่วยเป็นมิลลิบาร์ (mb) หรือ เฮกโตพาสคาล (hPa) ในที่สูง ๆ ความกดอากาศหรือน้ำหนักของอากาศก็จะน้อย ในที่ต่ำหรือใกล้พื้นโลก ความกดอากาศหรือน้ำหนักของอากาศก็จะมากขึ้น โดย ความกดอากาศที่บริเวณผิวน้ำทะเลมีค่าเท่ากับ 1,000 มิลลิบาร์ (1 บาร์) หรือ 1,000 เฮกโตพาสคาล

ภาพ : shutterstock.com

        โลกห่อหุ้มด้วยชั้นบรรยากาศหลายชั้น ซึ่งประกอบไปด้วยแก๊สต่าง ๆ เช่น ไนโตรเจน ออกซิเจน ไฮโดรเจน ฮีเลียม เป็นต้น แก๊สเหล่านี้มีความหนาแน่นน้อยมาก จึงถูกสารที่มีความหนาแน่นมากกว่าผลักให้ลอยห่างออกไปจากศูนย์กลางแรงดึงดูด แก๊สที่มีความหนาแน่นมากกว่าก็จะอยู่ใกล้ผิวโลกมากกว่า แก๊สที่มีความหนาแน่นน้อยมาก ๆ อย่างฮีเลียมและไฮโดรเจนก็จะอยู่ในบรรยากาศชั้นนอกสุด

        สารหรือวัตถุต่าง ๆ ล้วนมีมวล ซึ่งย่อมถูกดึงดูดด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกทั้งสิ้น แก๊สต่าง ๆ ก็ถูกแรงดึงดูด ดึงไว้กับโลกเช่นกัน แต่วัตถุที่มีความหนาแน่นมากกว่าจะจมลงใกล้ศูนย์กลางแรงดึงดูดได้มากกว่า ดังนั้น เมื่อเราบรรจุแก๊สฮีเลียมหรือไฮโดรเจนลงในลูกโป่งจนพอง จึงทำให้ลูกโป่งลอยขึ้นไปได้ เนื่องจากถูกอากาศที่มีความหนาแน่นมากกว่าเบียดขึ้นไปนั่นเอง

        หากเราเป่าลูกโป่งที่พื้น แล้วนำลูกโป่งนั้นขึ้นไปบนภูเขาสูง ๆ ลูกโป่งจะขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากความกดอากาศบนที่สูงมีน้อยกว่า อากาศในลูกโป่งจึงขยายตัวออก กลับกัน ถ้าเราเป่าลูกโป่งบนที่สูง แล้วนำกลับลงมาที่พื้น ลูกโป่งจะหดเล็กลง เนื่องจากความกดอากาศที่เพิ่มมากขึ้นไปบีบอากาศภายในลูกโป่งให้หดตัวลง

ภาพ : shutterstock.com

        ชั้นบรรยากาศที่ต่ำที่สุดคือ โทรโพสเฟียร์ (troposphere) เป็นชั้นที่เราอาศัยอยู่ มีความแปรปรวนของสภาพอากาศสูงเพราะมีไอน้ำในอากาศหรือเมฆมาก ชั้นถัดไปคือ สตราโทสเฟียร์ (stratosphere) เป็นชั้นบรรยากาศที่สงบ ไม่มีเมฆ และยังเป็นที่อยู่ของชั้นโอโซนอีกด้วย ชั้นต่อไปคือ มีโซสเฟียร์ (mesosphere) เป็นชั้นที่อากาศเบาบางมาก แต่ก็หนาแน่นพอที่จะทำให้อุกาบาตเกิดการเสียดสีจนลุกไหม้ ชั้นถัดไปคือ เทอร์โมสเฟียร์ (thermosphere) และเอกโซสเฟียร์ (exosphere) ตามลำดับ