เมฆ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 33.6K views



         เมฆบนท้องฟ้ามีรูปร่างแตกต่างหลากหลาย เราสามารถแบ่งประเภทของเมฆได้ 10 ประเภท หากแบ่งตามรูปลักษณ์ เราแยกประเภทของเมฆเป็น เมฆก้อนหรือคิวมูลัส (Cumulus) เมฆแผ่นหรือสตราตัส (Stratus) และเมฆขนนกหรือเซอรัส (Cirrus) โดยระดับความสูงในการก่อตัวของเมฆก้อนและเมฆแผ่นทำให้มีชื่อและลักษณะแตกต่างกันออกไปดังนี้

 

ภาพ : shutterstock.com

 

เมฆระดับต่ำ
         เมฆกลุ่มนี้อยู่สูงไม่เกิน 2 กิโลเมตร มี 5 ชนิดคือ เมฆสตราตัส (Stratus) คือเมฆแผ่น เมฆคิวมูลัส (Cumulus) คือเมฆก้อน เมฆสตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus) คือเมฆที่รูปทรงไม่ชัดเจน เป็นก้อน ๆ เรียงตัวชิดกันเป็นแพ เมฆนิมโบสตราตัส (Nimbostratus) คือเมฆแผ่นที่ก่อให้เกิดฝนตกปรอย ๆ และเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) คือเมฆก้อนที่ก่อให้เกิดฝนตกหนัก หรือพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเมฆคิวมูโลนิมบัสมีฐานเมฆอยู่ในระดับต่ำ แต่ยอดเมฆอาจอยู่ในระดับสูง เพราะก่อตัวในแนวตั้ง มักมีรูปร่างเหมือนทั่งตีเหล็ก

เมฆระดับกลาง​
         คือ เมฆที่เกิดขึ้นที่ระดับความสูง 2 - 6 กิโลเมตร ประกอบด้วยเมฆก้อนและเมฆแผ่น โดยมีคำว่า “อัลโต” นำหน้า ซึ่งอัลโตแปลว่า “ชั้นกลาง” ได้แก่ เมฆอัลโตสตราตัส (Altostratus) คือเมฆแผ่นชั้นกลาง มักมีสีเทาเนื่องจากเป็นแผ่นหนาบังแสงจากดวงอาทิตย์ และเมฆอัลโตคิวมูลัส (Altocumulus) คือเมฆก้อนชั้นกลาง มักมีลักษณะเป็นปุยขาว ๆ เหมือนก้อนสำลี ลอยติดกันเป็นแพดูคล้ายฝูงแกะ

เมฆระดับสูง
         เป็นเมฆที่เกิดขึ้นที่ระดับความสูงมากกว่า 6 กิโลเมตร จะมองเห็นได้ชัดเจนในช่วงเวลาที่ฟ้าใส โดยเมฆในชั้นนี้จะมีลักษณะเป็นผลึกน้ำแข็งเล็ก ๆ เนื่องจากอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำ ชื่อเมฆก้อนและเมฆแผ่นจะมีคำว่า “เซอโร” นำหน้า ซึ่งเซอโรแปลว่า “ชั้นสูง” ได้แก่ เมฆเซอโรสตราตัส (Cirrostratus) คือเมฆแผ่นชั้นสูง เป็นเมฆชนิดที่ทำให้เกิดการหักเหของแสงจนมองเห็นเป็นดวงอาทิตย์ทรงกลดนั่นเอง เมฆเซอโรคิวมูลัส (Cirrocumulus) คือเมฆก้อนชั้นสูง จะมีลักษณะเป็นเหมือนเกล็ดปลาหรือคลื่น นอกจากเมฆก้อนและเมฆแผ่นแล้ว ยังมีเมฆชั้นสูงอีกชนิดหนึ่งคือ เมฆเซอรัส (Cirrus) เป็นเมฆที่มีรูปร่างเป็นริ้วเส้นบางเบาคล้ายขนนก ถ้าเรามองเห็นเมฆเซอรัส แสดงว่าขณะนั้นท้องฟ้าปลอดโปร่ง พยากรณ์ได้ว่าวันนั้นไม่น่าจะมีฝน