การได้ยินเสียง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 43.7K views



          เมื่อมีการสั่นของแหล่งกำเนิดเสียง และคลื่นเสียงเดินทางผ่านตัวกลางมาจนกระทั่งถึงอากาศในหูของเรา เยื่อแก้วหูของเราที่เป็นของแข็งก็จะสั่นกระเพื่อมตามอากาศที่เป็นตัวกลาง ทำให้คลื่นเสียงถูกส่งต่อไปยังสมองของเราได้ โดยผ่านอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน

          สำหรับมนุษย์และสัตว์บกทั่วไป อากาศคือตัวกลางหลักที่เสียงเดินทางผ่านมาจนถึงเรา สำหรับสัตว์น้ำ น้ำจะเป็นตัวกลางของการเดินทางของเสียงแทน

          เสียงสามารถเดินทางผ่านตัวกลางทั้งสามสถานะ คือ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยเสียงจะสามารถเดินทางผ่านของแข็งได้ไวที่สุด ตามมาด้วย ของเหลว และเดินทางได้ช้าที่สุดผ่านตัวกลางที่เป็นแก๊ส ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า อนุภาคของของแข็งอยู่เรียงชิดติดกันที่สุดในสามสถานะ เมื่ออนุภาคหนึ่งสั่นไหว อนุภาคข้างเคียงก็จะสั่นไหวตามไปได้แทบจะพร้อม ๆ กัน ทำให้คลื่นเสียงเดินทางไปได้อย่างรวดเร็วที่สุด ส่วนในของเหลว อนุภาคจะเกาะกันอยู่อย่างหลวม ๆ เมื่ออนุภาคหนึ่งสั่น จึงใช้เวลามากขึ้น กว่าที่อนุภาครอบ ๆ จะสั่นตาม คลื่นเสียงจึงเดินทางได้ช้ากว่าในของแข็ง และในส่วนของแก๊ส อนุภาคจะฟุ้งกระจายตัวแทบจะเป็นอิสระจากกัน ทำให้การสั่นสะเทือนของอนุภาคตามอนุภาคใกล้เคียงเกิดขึ้นช้าที่สุด เสียงจึงเคลื่อนที่ผ่านอากาศได้ช้ากว่าในน้ำและในของแข็ง

          ไม่เพียงแต่เสียงจะเดินทางผ่านของแข็งได้ไวกว่าผ่านของเหลวและแก๊สเท่านั้น เสียงยังเดินทางผ่านของแข็งได้ไกลที่สุดอีกด้วย และด้วยเหตุนี้ คนสมัยก่อนจึงเอาหูแนบกับพื้นดินเพื่อฟังเสียงฝีเท้ากองทัพม้าที่อยู่ไกล ๆ ออกไป เพราะจะได้ยินไวกว่าและไกลกว่าเสียงฝีเท้าม้าที่เดินทางผ่านอากาศนั่นเอง

ภาพ : shutterstock.com

          การเดินทางของเสียงหนึ่ง ๆ มักไม่ได้เดินทางผ่านตัวกลางเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่คลื่นเสียงมักเดินทางผ่านตัวกลางต่าง ๆ หลายชนิดกว่าจะมาถึงเรา เสียงพูดคุยของคนที่อยู่ห้องข้าง ๆ กับเรา จะเดินทางผ่านอากาศในห้องนั้นมากระทบกับผนังห้อง และเดินทางผ่านผนังห้องมายังอากาศในห้องของเรา เราจึงได้ยินเสียงนั้นด้วย แต่การเดินทางผ่านตัวกลางหลายทอดก็จะทำให้เสียงที่ได้ยินนั้นเบาลงด้วยเช่นกัน

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย